NEXT STATION หนังสือเสียบปลั๊ก

NEXT STATION หนังสือเสียบปลั๊ก
มีตัวเลขหนึ่งในเดือนมกราคมนี้ที่สร้างเซอร์ไพร์สให้ธุรกิจสิ่งพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา เมื่อนิตยสาร GQ ออกมาเปิดเผยว่า "สามารถขาย GQ ฉบับเดือนมกราคมบน iTunes Store ได้ 12,000 เล่ม" ยอดจำนวนนี้ได้รับการอุดหนุนจากผู้ใช้ไอโฟนเพียงอย่างเดียว ที่ดาวน์โหลดไปอ่านในราคาฉบับละ 2.99 เหรียญ ( หรือ 90 บาทเศษ ) แม้ว่าจะเทียบไม่ได้กับยอดขาย GQ ฉบับกระดาษที่ทั่วโลกที่ขายได้ราว 700,000 ฉบับต่อเดือน แต่ตัวเลขนี้ก็คือสัญญาณหอมหวานที่บอกว่า ผู้อ่านพร้อมแล้ว เทคโนโลยีก็พร้อม (นานแล้ว) สำหรับ การอ่านหนังสือบน Gadget !!!
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ที่แล้ว หากใครสักคนบอกว่า "เครื่องอ่านหนังสือ" จะเป็นของใช้ยอดนิยมในอนาคตและจะเข้ามาส่งเสริมการอ่านของคน ความคิดแบบนี้คงมีหนอนหนังสือจำนวนไม่น้อยที่มองค้อนและเถียงคอเป็นเอ็น เพราะยังเชื่อในความโรแมนติกผิวสัมผัสของกระดาษ รสการอ่านที่ค่อยๆ พลิกหน้าละเลียดกับตัวหนังสือ ผู้เขียนก็ยังรักฟอร์แมตที่ Manual แบบนั้น แต่เมื่อโลกเดินทางมาถึง ค.ศ.2010 นี้เราก็อดตื่นเต้นและต้องปรับตัวตามเทคโนโลยีไม่ได้ ในวันที่ต้องตัดต้นไม้เป็นล้านๆ ตันต่อปีมา มาทำเยื่อกระดาษเพื่อป้อนอุตสาหกรรมหนังสือ หรือในช่วงเวลาที่น้ำมันร่อยหรอ การขนส่งหนังสือเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาบนหน้าปก ถ้าเราจะมีทางเลือกที่รบกวนธรรมชาติน้อยลง ได้อ่านความรู้ ความบันเทิงที่ส่งตรงถึงมือ บางครั้งการอ่านหนังสือผ่าน E- Reader ก็ไม่ใช่อะไรที่น่าชังเสมอไป

การอ่านและไอโฟน

GQ ขาใหญ่วงการนิตยสารในเครือของ Cond? Nast Publications สำนักพิมพ์ที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของนักอ่านอเมริกันที่บริหารนิตยสารขายดีในสังกัดกว่า 30 หัว (Vogue, Vanity Fair, Details, Wired) ซุ่มทำรีเสิร์จว่าด้วย

การอ่านของคนรุ่นใหม่มาสักระยะหนึ่งแล้ว Cond? Nast พบว่า อุปกรณ์สื่อสารยอดนิยมอย่างไอโฟน เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คนสนใจการอ่านข้อความผ่าน Gadget เนื่องจากมีคุณสมบัติด้าน Multi-Touch Screen ที่ผู้อ่านสามารถสัมผัสหน้าจอย่อ-ขยายรูปภาพได้ รวมทั้งยังให้ประสบการณ์การอ่านที่ดีกับผู้อ่านในการอ่านข่าวผ่านเว็บไซต์ อ่านอีเมล์ อ่าน Blog

ทีมวิจัยทีมนี้ลงมือหาคำตอบเพื่อไขข้อข้องใจที่ว่า "ต่อไปนิตยสารและหนังสือจะตายไปจากการอ่านของคนไหม?" คำตอบที่ได้จากแบบสอบถามในทวีปอเมริกาเหนือ คือ นิตยสารหรือหนังสือที่อยู่ในฟอร์แมตกระดาษจะเป็นที่ต้องการน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ เพราะคนเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การดาวน์โหลดมากขึ้น พวกเขาเชื่อว่าคนในเจนเนเรชั่นใหม่ที่โตขึ้นมาอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีการดาวน์โหลดจะอยู่ในวิถีชีวิต

หัวขบวนของวงการจึงมองว่า ต่อจากนี้ไปจะอยู่กับการทำอุตสาหกรรมพริ้นติ้งแบบ "Run & Road to Download" จึงไม่แปลกที่เดือนมีนาคมนี้ GQ จะปรับราคาการดาวน์โหลดนิตยสาร GQ บน iTunes Store เหลือเล่มละ 1.99 เหรียญจากเดิม 2.99 เหรียญ และอาจสร้างระบบสมาชิกที่ต่อไปจะอ่าน GQ ได้ในราคาเพียง 0.99 เหรียญ (หรือน้อยกว่า 34 บาทต่อเล่ม) ทั้งนี้นิตยสารผู้ชายแถวหน้าเชื่อว่าด้วยฐานผู้ใช้ไอโฟนที่มีประมาณ 30 ล้านเครื่องทั่วโลก สิ่งที่พวกเขาทำ คือ การคิดการใหญ่เพื่ออนาคตที่สดใส

ระหว่างที่ผู้เขียนเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้น มีกระแสในอินเตอร์เน็ตที่แรงมากว่านวัตกรรมชิ้นใหม่เอี่ยมของแอปเปิล ที่เรียกว่า "Apple Tablet" อุปกรณ์พกพาขนาด 10 นิ้ว หน้าจอสัมผัสสำหรับเล่นมัลติมีเดียและอินเตอร์เน็ต กูรูหลายสำนักคาดการณ์ว่า Apple Tablet เกิดมาเพื่อขึ้นย่อหน้าใหม่ให้กับการอ่านหนังสือและแมกกาซีนผ่าน Gadget เหมือนกับที่ 10 ปีก่อน iPod เกิดมาเพื่อปฏิวัติการฟังเพลงและซื้อขายเพลงบนอินเตอร์เน็ต คาดว่าเช้าวันนี้ผู้ที่ติดตามเทคโนโลยีคงทราบแล้วว่า "Apple Tablet" ของเล่นใหม่จากไร่แอปเปิลแคลิฟอร์เนีย ได้สั่นสะเทือนวงการแค่ไหน สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้กับการอ่านหนังสือ

E - Reader หนังสือเสียบปลั๊ก

แม้หลายคนจะชอบขอนขอดว่า เดี๋ยวนี้คนอ่านหนังสือกันน้อยลงอย่างน่าใจหายและหันไปสนุกกับสื่อใหม่ เช่น Social Network facebook หรือ Youtube จนลืมการอ่าน ผู้เขียนอยากให้ข้อมูลว่า เราอ่านอาจหนังสือ (ประเภทเล่ม) น้อยลงก็จริง แต่เราอ่าน (ตัว) หนังสือหรือข้อความกันมากขึ้นแน่ๆ เพราะปฏิสัมพันธ์ของคนเราบนหน้าคอมพิวเตอร์ทุกเวลานี้ คือ การอ่านข้อความ (Text) พฤติกรรมลักษณะนี้จึงทำให้บรรดาผู้นำด้าน Gadget เริ่มผลิตโปรดักซ์สำหรับอ่านข้อความกันมากขึ้น

ก่อนหน้านี้บุ๊คสโตร์ออนไลน์อันดับหนึ่งอย่าง Amazon ได้นำร่องไปแล้วกับ Amazon Kindle เครื่องอ่านหนังสือหน้าตาน่ารักขนาดพกพา ที่ผู้ใช้สามารถออนไลน์สั่งซื้อหนังสือประเภท E-Ink ได้ ส่งตรงถึงเครื่อง มีความจุข้อมูลหนังสือได้ราว 1,500 เล่ม หรือหน้าเอกสารเป็นแสนหน้า ผู้ใช้สามารถบอกรับเป็นสมาชิกกับหนังสือพิมพ์ชั้นนำในอเมริกาได้ เช่น ทุกเช้า New York Times จะส่งหนังสือพิมพ์ทั้งฉบับเวอร์ชั่น Amazon Kindle มาให้อ่านถึงหน้าจอ การชาร์จแบตหนึ่งครั้งเครื่องจะแสตนด์บายได้ 1 สัปดาห์ หรือหนอนหนังสือจะเปิดอ่านหนังสือก็ได้อ่านติดต่อกัน 4 วันถึงแบตจะหมด

แม้ว่าการเปิดตัวช่วงแรก Amazon Kindle ตัวซีอีโอ เจฟฟ์ เบซอนจะถูกถล่มจากสื่อฯหลายสำนักว่า "คุณบ้าหรือไง ? ที่เปิดร้านหนังสือออนไลน์ แล้วไม่ขายหนังสือแบบ Hard Copy แต่ดันสร้างเครื่อง E-reader ออกมาขาย" ประเด็นนี้ได้รับการคลี่คลายด้วยยอดขายที่ถล่มถลายในเวลาต่อมา คนตอบรับกับพฤติกรรมการอ่านผ่าน Kindle มากขึ้นด้วยราคา 259 เหรียญ (9,000 บาทเศษ) จนกลายเป็นสินค้าขายดีประจำเว็บ

ซีอีโอหัวก้าวหน้าเช่นเจฟฟ์ เบซอน ออกมาฉะกลับว่า "ที่พวกคุณบอกว่า การอ่านต้องผ่านกระดาษเท่านั้น เพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่ยุคนี้ธรรมชาติของมนุษย์ คือ อะไร ธรรมชาติของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน คือ คอมพิวเตอร์ คือ การสื่อสาร ? ย้อนกลับไปวันที่มนุษย์เลิกสลักข้อความลงหิน แล้วหันมาเขียนหมึกลงบนกระดาษ ผมว่าวันนั้นก็ย่อมมีคนคัดค้านไม่น้อยเรื่องของความคงทน แล้วเป็นไงล่ะ Amazon Kindle กำลังทำให้การอ่านเป็นเรื่องสนุก ทำให้หนังสือไม่จำเป็นต้องเป็นกระดาษและอยู่ในเชลฟ์ ทำให้เราตัดต้นไม้น้อยลง หรือทำให้เราส่งหนังสือถึงมือคุณโดยไม่ต้องพึ่งพาคน 15 คน หรือน้ำมันอีก 500 ลิตร ไม่ให้เกิดของเสียต่อสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญผมกำลังทำให้การอ่านเป็นไลฟ์สไตล์ เป็นลองเทมิอของการเรียนรู้ แล้วอนาคตจะต้องขอบคุณผม" *ปัจจุบันมหาวิทยาลัยชั้นนำในอเมริกาแนะนำให้นักศึกษามี Amazon Kindle สำหรับอ่าน Textbook และรับเลคเชอร์ของอาจารย์ในคลาสเรียน

เครื่องอ่านหนังสือดูจะไม่ใช่ของเล่นที่เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว เพราะปีนี้จะมีหลายแบรนด์ลงมาผลิต E-Reader แข่งขันกันสุดฤทธิ์ เช่น Sony เองก็กำลังจะวางขาย E-Reader ของตัวเองและทำตลาดอย่างจริงใจ รวมถึงแบรนด์ Asus, Plastic Logic, Barnes & Noble และบรรดาผู้ผลิต Netbook หลายเจ้าก็กำลังเรียบๆ เคียงๆ อุปกรณ์ชนิดนี้ กูรูด้านไอทีของวอชิงตัน โพสต์ หล่นความคิดในบทความที่เกี่ยวกับ E-book ว่า "เอาเป็นว่าถ้าแบรนด์ต่างๆ จะทำตลาด E-Reader กันจริงๆ แค่เจาะกลุ่มผู้ที่อ่านใบเบิลอย่างเดียวที่มีมากกว่าร้อยห้าสิบล้านคนแค่นั้นก็ฮือฮาแล้ว หากสังเกตในรอบ 100 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการอ่านได้รับเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด ดังนั้น หากจะมีการเปลี่ยนฟอร์แมตตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปครั้งนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลความจริง"

หน้าร้าน กับ หน้าจอ

ถ้ามองอย่างเปิดใจในแง่มุมมองที่เทคโนโลยีมีไว้เพื่อแก้ปัญหา จะพบว่าก็เป็นเรื่องที่ท้าทายความคิดมากที่หากวันหนึ่ง "หน้าจอ" จะมาเป็นตัวสอดแทรกที่สำคัญของ "หน้าร้านหนังสือ" คุณผู้อ่านทราบไหมครับว่าปัจจุบันราคาหน้าปกหนังสือพ็อกเกตบุ๊คที่ตั้งกัน ผู้ผลิตจำเป็นต้องตั้งราคาสูงกว่าราคาต้นทุน 4-5 เท่าเป็นอย่างน้อยเพื่อให้หนังสือเล่มนั้นอยู่ได้ นักเขียนจะได้ไกลห่างจากภาวะไส้แห้ง เพราะ 30- 40% ของราคาปก คือ อัตราที่ผู้ผลิตหนังสือเล่มนั้นจะต้องหักให้กับสายส่งและร้านหนังสือที่วางขายจำหน่ายให้

ความเป็นไปเช่นนี้เองที่ทำให้ทุกปีเราจะเห็นมหกรรมสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่สำนักพิมพ์เล็กๆ ออกมาจัดจำหน่ายหนังสือด้วยตัวเองกันคึกคัก เพื่อได้เงินเป็นกอบเป็นกำ ไม่ต้องเข้าไปอยู่ในวงจรของการฝากขายหน้าร้าน เนื่องจากทุกวันนี้เราเห็นได้ชัดว่าอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ในประเทศยังตกอยู่ในเงื่อนไขของการผูกขาด ที่มีสำนักพิมพ์เพียงไม่กี่แห่งมีสายพานการผลิตจากต้นน้ำไปปลายน้ำ มีโรงพิมพ์ มีร้านเชนสโตร์จัดจำหน่ายอย่างเบ็ดเสร็จในตัวเอง

ทำให้ผู้ผลิตผลงานและผู้บริโภคมีอำนาจต่อรองกับเงื่อนไขที่เป็นอยู่ได้ไม่มากนัก เราๆ ท่านๆ ต้องกัดฟันซื้อหนังสือในราคาเล่มละเฉลี่ยเฉียด 200 บาทกันต่อไปและมีทีท่าว่าจะแพงขึ้นตามปัจจัยค่าขนส่ง ค่ากระดาษ ค่าพีอาร์ ฯลฯ

แต่ถ้าหากแทน "E-reader" เข้าไปในสมการการอ่าน การซื้อ-ขายหนังสือในอนาคต อาจเป็นเรื่องที่ทำให้นักเขียนและนักอ่านเจอกันเร็วขึ้น ลดค่าใช้จ่ายไปได้หลายจุด นักเขียนอาจอัพโหลดผลงานของตัวเองไปแขวนไว้บนอินเตอร์เน็ต ผู้อ่านก็จ่ายเงินให้กับเจ้าของผลงานโดยตรง จากนั้นก็ผู้อ่านก็ดาวน์โหลดไฟล์หนังสือไปอ่านบน "E-Reader" ของตัวเอง ลองให้เวลากระบวนการแบบนี้ไปสักระยะ นี่อาจเป็นความโรแมนติกชนิดใหม่ที่จะเกิดขึ้นกับการอ่านหนังสือในอนาคตก็เป็นได้

บายไลน์ : ตะวันอ้อมข้าว



ที่มาโดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์/http://www.manager.co.th/mgrweekly/viewnews.aspx?newsID=9530000013008

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น