ยาฮูฉลอง 15 ขวบ ซีอีโอขอเวลาทวงคืนบัลลังก์
คารอล บารต์ซ บอสหญิงสุดแกร่งของยาฮู (Yahoo!) เปิดจุกแชมเปญเชิญสื่อมวลชนฉลองครบรอบก่อตั้งบริษัทยาฮู 15 ปีเต็มเมื่อวันที่ 2 มีนาคมตามเวลาสหรัฐฯ ยอมรับว่ายาฮูต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการผงาดเป็นเบอร์ 1 ในยุทธจักรอินเทอร์เน็ตอีกครั้ง ยก"แอปเปิล"เป็นตัวอย่างการหวนคืนบัลลังก์ที่ต้องใช้เวลานานถึง 4 ปี
คารอล บารต์ซ (กลาง) ซีอีโอยาฮู, เจอร์รี่ หยาง (ขวา) และเดวิด ฟีโล (ซ้าย) 2 ผู้ร่วมก่อตั้งยาฮู ยกแขนเฮฮาในปาร์ตี้ฉลองครบรอบ 15 ปียาฮู ที่สำนักงานใหญ่ยาฮูในแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา
ยาฮูครบรอบ 15 ขวบแต่บารต์ซนั้นเพิ่งจะครบรอบการทำงาน 14 เดือนในยาฮู (บารต์ซมีสัญญาทำงานกับยาฮูเป็นเวลา 4 ปี โดยสัญญาจะสิ้นสุดในปี 2013) ภายในงาน บารต์ซเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนด้วยการยกแอปเปิล (Apple) เป็นกรณีศึกษา ระบุว่าสตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) สามารถสร้างชื่อให้แอปเปิลเป็นที่รู้จักในวงกว้างเพราะการเปิดตัวไอพ็อด (iPod) เครื่องเล่นเพลง MP3 เมื่อปี 2001 ซึ่งเป็นเวลาหลังการเริ่มต้นเปิดบริษัทอย่างเป็นทางการในปี 1997
สำนักข่าวเอพีรายงานคำพูดของบารต์ซในงานนี้ว่า ขนาดจ็อบส์นั้นเป็นผู้ที่รู้จักดีเอ็นเอของแอปเปิลมากกว่าทุกคน เขายังต้องใช้เวลานาน 4 ปีจึงจะสร้างแอปเปิลได้เกรียงไกรสมใจ จุดนี้จึงเกิดเป็นข้อสังเกตว่า บารต์ซเองยิ่งต้องการปาฏิหาริย์ที่ยิ่งใหญ่กว่าจ็อบส์ ในการสร้างปูทางให้ยาฮูสามารถคืนบัลลังก์ได้ในตำแหน่งที่สูงเท่าหรือสูงกว่าเดิม
"ดิฉันรู้ว่าผู้คนอยากจะเห็นมนต์วิเศษเกิดขึ้นที่ยาฮู แต่มนต์วิเศษนั้นเกิดขึ้นแล้วในระบบงานเล็กๆของเราที่นี่" บารต์ซหยอดคำหวาน
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าฝีไม้ลายมือที่ผ่านมาของบารต์ซนั้นเรียกความเชื่อถือจากนักลงทุนให้กับยาฮูได้มากมาย จากการประมาณพบว่า มูลค่าหุ้นของยาฮูนั้นเพิ่มขึ้นราว 30% ตลอดเวลาที่บารต์ซดำรงตำแหน่งซีอีโอ แม้ว่ายอดขายและกำไรของยาฮูจะไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่เพราะการกลั้นใจรัดเข็มขัดและนโยบายปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ทำให้ยาฮูไม่ต้องพบกับภาวะกำไรตกต่ำ
บารต์ซประกาศลอยแพพนักงานหลังเข้ารับตำแหน่งซีอีโอราว 800 คน แต่ได้ว่าจ้างพนักงานเพิ่มขึ้น 700 คนตลอด 3 เดือนสุดท้ายของปีที่ผ่านมา จุดนี้บารต์ซกล่าวว่ากำลังคนของยาฮูจะเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้ แต่ไม่ระบุจำนวนที่แน่นอน
บารต์ซยังยอมรับว่า แคมเปญการตลาดมูลค่ากว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งยาฮูใช้ไปกับการปรับปรุงเว็บและบริการออนไลน์นั้นไม่ได้เกิดผลเท่าที่ควรในสหรัฐฯ แต่กลับได้รับเสียงตอบรับยอดเยี่ยมในตลาดอังกฤษและฝรั่งเศสแทน
สิ่งที่น่าสนใจอีกจุดคือคำตอบของบารต์ซที่มอบให้กับผู้สื่อข่าวสำนักข่าว CNBC ซึ่งถามว่าเหตุใดเครือข่ายสังคมของยาฮูจึงไม่เน้นสังคมเด็กเช่นที่เฟสบุ๊ก (Facebook) ทำ โดยบารต์ซย้อนถามว่า "บอกฉันหน่อย รายได้ของพวกเขาอยู่ที่ไหน" แปลว่านโยบายเครือข่ายสังคมของยาฮูจะไม่ลงไปแตะตลาดกลุ่มใหญ่อย่างเด็กวัยรุ่นค่อนข้างแน่นอน
สำหรับนโยบายการซื้อขายบริษัท ผู้บริหารยาฮูระบุว่าช่วงต้นปีที่ผ่านมา ยาฮูได้จำหน่ายบริการอีเมล Zimbra รวมถึงเว็บไซต์ให้บริการความช่วยเหลือออนไลน์ HotJobs ไปแล้วซึ่งยังอยู่ระหว่างช่วงรอการอนุมัติอย่างเป็นทางการ โดยบริษัทยังมีนโยบายซื้อบริษัททีมงานน้อยที่มีแนวคิดดี
นโยบายนี้ตรงกับหลักการซื้อบริษัทของกูเกิล (Google) คู่แข่งยาฮูที่ประกาศซื้อบริษัทถึง 8 รายในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา หนึ่งในนั้นคือบริการเว็บไซต์ตกแต่งภาพออนไลน์นาม Picnik ซึ่งเป็นบริการหลักในเว็บไซต์ฝากไฟล์ภาพ Flickr ของยาฮู จุดนี้บารต์ซระบุว่า ยาฮูไม่ได้เสนอราคาซื้อ Picnik แข่งกับยาฮูอย่างที่มีข่าวลือ
Picnik (พิกนิค) เป็นเว็บไซต์ให้บริการปรับแต่งภาพออนไลน์เพื่อแบ่งปันและส่งต่อให้กับกลุ่มเพื่อนบนโลกดิจิตอล ถูกผูกเข้ากับบริการเครือข่ายสังคมชื่อดังอย่าง Facebook, MySpace, Photobucket, Picasa Web Albums ซึ่งกูเกิลซื้อไปตั้งแต่ปี 2004 รวมถึง Flickr ของยาฮู ซึ่งแม้กูเกิลจะระบุว่าพร้อมสนับสนุนพันธมิตรของ Picnik ตามปกติ แต่ในฐานะที่ยาฮูและกูเกิลเป็นคู่แข่งกัน นักสังเกตการณ์จึงจับตามองความเคลื่อนไหวเรื่องนี้เป็นพิเศษ
หลังการประกาศซื้อ Picnik เมื่อต้นเดือนมีนาคม ผู้บริหารกูเกิลไม่เปิดเผยรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงบนบริการ Picnik ใดๆ ระบุเพียงว่าผู้ใช้ Picnik จะยังสามารถแบ่งปันไฟล์ภาพบน Picnik ได้จากหลายค่ายเครือข่ายสังคมเช่นเดิม โดยทีมงานกูเกิลและ Picnik กำลังอยู่ระหว่างการร่วมมือกันเพื่อผูกรวมบริการและการคิดค้นคุณสมบัติใหม่ ซึ่งมีโอกาสสูงมากที่กูเกิลจะรวมความสามารถของ Picnik เข้ากับบริการ Picasa ในเร็ววันนี้
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น