HD ปฏิวัติวงการทีวีไทยรอบใหม่ พลิกโฉมวงการทีวี สะเทือนถึงวงการโฆษณา
จ้องมองทีวีจอตู้ของคุณไว้ อีกไม่นานจะกลายเป็นของโบราณ
* โลกแห่งความคมชัด High Definition เคลื่อนเข้าปฏิวัติทุกจอสี่เหลี่ยม
* พลิกโฉมไล่ตั้งแต่วงการ AV สถานีโทรทัศน์ ผู้ผลิตรายการทีวี ไปจนถึงวงการโฆษณา
* ค่ายเกาหลีชิงพื้นที่ ส่ง LED TV ปฏิวัติ TV ดิจิตอล ไล่ตามโซนี่ที่บุกเบิก HD World ไปก่อนหน้า
นับตั้งแต่โทรทัศน์เริ่มออกอากาศครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อกลางปี พ.ศ.2498 สื่อสาระและบันเทิงจอตู้ได้กลายเป็นสื่อทรงอิทธิพลที่สุดกับวงการบันเทิง และการเมือง ต่อเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ.2517 เกิดการปฏิวัติวงการโทรทัศน์ครั้งใหญ่ เมื่อภาพที่เคยออกอากาศในระบบขาว-ดำ ถูกยกระดับขึ้นเป็นการออกอากาศระบบสี อิทธิพลที่มีอยู่ในวงการบันเทิง และการเมือง จึงถูกขยายไปสู่การสร้างประสิทธิภาพในด้านการตลาดให้กับสินค้าต่างๆ
แต่นับจากนี้ วงการโทรทัศน์ กำลังก้าวสู่การปฏิวัติครั้งใหญ่ จากทีวีระบบอะนาล็อก ที่มีจำนวนน้อยช่อง ให้ภาพชัดอยู่ในระดับธรรมดาๆ มาเป็นทีวีระบบดิจิตอล ที่สามารถรองรับช่องรายการนับร้อยช่อง และให้ภาพที่คมชัดสุดๆ ที่เรียกว่า High Definition หรือ HD
มติจากการประชุม Asian Digital Broadcast (ADB) ที่มีสมาชิกคือประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมถึงประเทศไทย เกี่ยวกับความร่วมมือเพื่อพัฒนา Digital Terrestrial Broadcasting ในกลุ่มประเทศอาเซียน เมื่อครั้งการประชุม Ninth Conference of the ASEAN Ministers Responsible for Information (การประชุม AMRI ครั้งที่ 9) เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2550 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย มีประเด็นหลักของการประชุม ได้แก่ การหารือความร่วมมือด้านการกระจายเสียงและภาพระบบดิจิตอล (ASEAN Digital Broadcasting Cooperation) ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอในการปรับเปลี่ยนสู่การกระจายเสียงและภาพระบบดิจิตอลสำหรับภูมิภาคอาเซียนในภาพรวม โดยใช้ระบบ DVB-T เป็นระบบมาตรฐานดิจิตอลของอาเซียน และรับทราบกำหนดวันหยุดออกอากาศด้วยระบบอะนาล็อก ในปี ค.ศ.2015 หรือปี พ.ศ.2558
เขมทัตต์ พลเดช ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายการตลาด บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เวลานี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงการตื่นตัวกับเทคโนโลยี High Definition หรือ HDโดยส่วนที่มีความตื่นตัวมากคือตัวโปรดักส์ ที่สินค้าที่เป็นเทคโนโลยี HD ออกวางตลาดมากมาย ทั้งโทรทัศน์ กล้องถ่ายรูป กล้องวิดีโอ ที่พัฒนาไปถึงระดับ Full HD เครื่องเล่นดีวีดีบลูเรย์ จนถึงโทรศัพท์มือถือที่มีจอภาพเป็น Full HD แล้ว เหลือเพียงในส่วนของระบบการออกอากาศเท่านั้น ที่ยังไม่เป็น HD อย่างเต็มตัว แต่เชื่อว่าผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ทุกราย และสถานีโทรทัศน์ทุกช่องกำลังเตรียมการอยู่ เนื่องจากต้องรองรับช่วงเวลาในอีก 5 ปีข้างหน้า ที่อาเซียนจะเปลี่ยนจากระบบ Territorial การออกอากาศจากสถานีภาคพื้น มาเป็นระบบดิจิตอลทั้งหมด ซึ่งก็จะไปสัมพันธ์กับวงการเทเลคอม ที่จะก้าวสู่ระบบเครือข่าย 3.9G หรือ 4G ตามที่ กทช. ได้วางแผนไว้
'หากวงการโทรทัศน์เปลี่ยนระบบเป็นดิจิตอล HD เชื่อว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มอีกมหาศาล นอกจากเครื่องรับโทรทัศน์ที่ต้องมีการเปลี่ยนจากจอตู้มาเป็นจอแอลซีดี หรือแอลอีดี อีกส่วนสำคัญคือวงการโฆษณา บรรดาเอเยนซีโฆษณา ทำโฆษณาขายสินค้า จะต้องทำงานที่คุณภาพมากขึ้น เพราะต่อไปต้องถ่ายทำด้วยระบบ HD ภาพที่ออกมาจะชัดเจนสมจริง ดึงดูดใจผู้บริโภคได้มากขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มในวงการโฆษณา สินค้าสามารถสร้างยอดขายได้มากขึ้น ซึ่งหากวงการโทรทัศน์เข้ามาสู่โลก HD ต่อไปธุรกิจอื่นๆ ก็จะมาเป็น HD กันทั้งหมด วันนี้ในร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้ามีสินค้า HD วางขายมากมาย กล้องถ่ายรูป กล้องวิดีโอ แม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือยังเป็น HD สิ่งเหล่านี้เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต เทคโนโลยี DVB-T ที่จะเป็นระบบมาตรฐานของอาเซียน ทำให้เราสามารถดูโทรทัศน์ที่ใดก็มีความชัดเจนสมจริงเหมือนกัน ไม่ว่าจะในรถยนต์ หรือทีวีโมบาย ทุกอย่างจะคมชัดหมด'
ทรูวิชั่นส์ชิงออกตัวช่อง HD
มุ่งครองเจ้าทีวีดิจิตอลเมืองไทยใน 3 ปี
ในส่วนของเจ้าของสถานีโทรทัศน์ แม้วันนี้สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี จะอยู่ในช่วงการเตรียมตัวพัฒนาสู่การออกอากาศในระบบดิจิตอล แต่ค่ายโทรทัศน์บอกรับสมาชิกรายใหญ่ ทรูวิชั่นส์ ที่มีพื้นฐานในการออกอากาศด้วยระบบดิจิตอลผ่านดาวเทียมอยู่ก่อนแล้ว ก็ก้าวไปสู่เทคโนโลยีดิจิตอล High Definition เป็นรายแรก
ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเทคโนโลยีการรับชมใหม่ล่าสุด TrueVisions High Definition หรือ TrueVisions HD ที่เปิดให้บริการ เพื่อเจาะกลุ่มสมาชิกระดับบน แพลทินัม และโกลด์ แพกเกจ โดยเฉพาะว่า เป็นระบบการออกอากาศและรับสัญญาณภาพช่องรายการแบบ HD 1080 ที่ให้ความละเอียดคมชัดเหมือนอยู่ในเหตุการณ์จริง ส่งสัญญาณภาพออกอากาศแบบ Wide Screen เพิ่มพื้นที่ภาพเพื่อการรับชมที่เต็มตา พร้อมระบบเสียงคุณภาพรอบทิศทาง โดยทรูวิชั่นส์จะเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ผ่าน 2 ช่องรายการในหมวดที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ TrueSport HD ช่อง 111 และ HBO HD ช่อง 112
ศุภชัยเชื่อมั่นว่าในอนาคต ระบบ HD จะเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในประเทศไทยไปอย่างสิ้นเชิง คาดว่าภายใน 5-8 ปี ช่องรายการโทรทัศน์ในประเทศไทย 90% จะเปลี่ยนเป็นการออกอากาศด้วยระบบ HD
TrueVisions HD ถือเป็นส่วนหนึ่งในแผนงานในการเข้ายึดครองตลาดทีวีดิจิตอลเมืองไทยในอนาคต เพราะสัญญาสัมปทานโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ที่ทรูวิชั่นส์มีกับ อสมท จะหมดลงในปี พ.ศ.2557 แม้ในส่วนของสัญญาสัมปทานเคเบิลทีวียังอยู่ แต่ทรูวิชั่นส์ดูเหมือนไม่ได้ให้ความสำคัญกับการทำตลาดในส่วนเคเบิลตามสายเท่าไรนัก แต่กลับมาโฟกัสที่ธุรกิจจานดาวเทียม ออกจานแดงมาจำหน่าย ได้สมาชิกเพิ่มขึ้นรวดเร็ว แต่ในเร็วๆ นี้ ก็เตรียมจะเปิดให้บริการฟรีทูแอร์ ที่จะเพิ่มช่องออกเป็น 30-40 ช่อง เท่ากับทรูวิชั่นส์จะเป็นเจ้าตลาดทีวีช่องใหม่ในอีก 3-4 ปี เมื่อหมดสัญญากับ อสมท ก็ขยับจากสัมปทาน อสมท ไปสู่การให้บริการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม กลายเป็นสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งเวลานี้สามารถสร้างรายได้มากกว่าเคเบิล เพราะสามารถขยายสมาชิกได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ช่อง 3 ช่อง 7 หรือโมเดิร์นไนน์ แม้จะมีการปรับการออกอากาศเป็นดิจิตอล แต่ก็มีอยู่ช่องเดียว ขณะที่ทรูวิชั่นส์ทำล่วงหน้ามาแล้ว หลายปี ขณะนี้ทรูวิชั่นส์ เปิดช่อง HD 2 ช่อง กีฬากับ HBO ต่อไปอาจจะเปิดอีกก็ได้ เพราะมีความพร้อมตั้งแต่ระดับไฮเอนด์ไปจนถึงรากหญ้า นี่คือการวางแผนของทรูวิชั่นส์ ที่นำเรื่องเทคนิคมาผสมผสานกับการตลาด และผสมผสานกับธุรกิจของตน
โซนี่ สร้างภาพผู้นำ
บุกเบิกอาณาจักร HD TV
ปัจจุบัน HD TV เป็นที่แพร่หลายในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะประเทศที่มีการส่งสัญญาณทีวีในระบบดิจิตอล Full HD เช่นที่สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ซึ่งประชาชนที่ใช้ HD TV เท่านั้นที่จะได้รับสัญญาณภาพแบบ Full HD ซึ่งให้รายละเอียดความคมชัดสมจริง ส่วนทีวีรุ่นเก่าที่มีความละเอียดไม่ถึงระดับ Full HD ก็ไม่ได้รับความนิยม และค่อยๆ หายไปจากตลาด ทั้งนี้เป็นผลจากการที่สัญญาณไฮเดฟฟินิชั่นเป็นระบบ 16:9 หรือไวด์สกรีน และเมื่อใช้ทีวีรุ่นเก่าซึ่งเป็นระบบ 4:3 จะทำให้ภาพด้านบนและด้านล่างถูกบีบ สัญญาณภาพที่ได้จึงมีขนาดเล็กลง
สำหรับตลาดเมืองไทย การที่จะให้แต่ละสถานีมีการส่งสัญญาณดิจิตอลในระดับ Full HD ได้นั้นจะต้องรอท่าทีการสนับสนุนจาก กสช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ) ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา อีกทั้งปัญหาบ้านเมืองทำให้ภารกิจหลักของ กสช.ชุดที่จะเกิดขึ้นต้องมาตามสะสางและจัดระเบียบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ให้ถูกต้องตามระเบียบ เช่น เรื่องของทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวีที่มีการโฆษณาทำให้ผิดวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งเพื่อเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ ในขณะที่เพื่อนบ้านอย่างพม่า เวียดนาม มีการกำหนดท่าทีที่ชัดเจนของการปรับระบบการส่งสัญญาณให้เป็น Full HD ในอนาคต
สำหรับตลาดเมืองไทยต้องถือว่าค่ายโซนี่เป็นค่ายแรกที่พยายามสร้างตลาด HD ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง โดยนโยบาย HD World ถือเป็นนโยบายที่โซนี่ใช้ทั่วโลกเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เพื่อแนะนำให้ผู้บริโภคได้เห็น ได้รับรู้ และสัมผัสถึงประสบการณ์ในการรับชมภาพและเสียงแบบ Full HD
แม้ยังไม่เห็นวี่แววว่าประเทศไทยจะมีการส่งสัญญาณในระบบ Full HD เมื่อไร แต่เป็นความจำเป็นของโซนี่ที่จะต้องสร้างตลาด Full HD ให้เกิดขึ้นเสียก่อน เนื่องจากโซนี่ได้สร้างเทคโนโลยีเครื่องเล่นแผ่นบลูเรย์ที่ให้ความละเอียดของภาพในระดับ Full HD แต่ถ้าใช้เครื่องรับสัญญาณที่ไม่รองรับ Full HD ก็ไม่เกิดประโยชน์ อีกทั้งยังต้องติดตั้งระบบเสียงให้เป็น 5.1 แชนแนลเพื่อการรับฟังเสียงที่สมจริง เพราะฉะนั้นโซนี่จึงต้องทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้ HD TV เสียก่อนที่จะลอนช์เครื่องเล่นบลูเรย์ดิสก์ รวมถึงเกมเพลย์สเตชั่น 3 ซึ่งต้องการทีวีที่รองรับสัญญาณ Full HD เช่นกันจึงจะได้อรรถรสในการชมเพราะถ้าใช้ทีวีรุ่นเก่าก็จะไม่ได้ภาพที่ให้รายละเอียดสมจริง
โซนี่สร้างอาณาจักร HD World ในขณะที่ยังไม่มีการส่งสัญญาณในระบบ Full HD ด้วยการลอนช์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่จะมาเชื่อมต่อความเป็น Full HD ตั้งแต่กล้องดิจิตอล กล้องวิดีโอ ล่าสุดโซนี่อีริคสันก็มีการทำโทรศัพท์มือถือที่สามารถบันทึกภาพวิดีโอในระดับ Full HD ได้
โซนี่ยังมีการทำตลาด Full HD ไปสู่กลุ่มโปรเฟสชันนัล เช่น โปรดักชั่นเฮาส์ โรงภาพยนตร์ เพื่อเป็นการรองรับอนาคตเพราะเมื่อใดที่มีการเผยแพร่สัญญาณเป็นระบบไฮเดฟฟินิชั่น ข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ในระบบเดิมก็จะใช้ไม่ได้ ทำให้ผู้ผลิตรายการทีวีหลายรายเริ่มหันมาบันทึกข้อมูลด้วยระบบไฮเดฟฟินิชั่นมากขึ้น เช่นค่ายกันตนาซึ่งร่วมกับโซนี่สร้าง HD Training Center เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฮับในการผลิตภาพยนตร์ระดับไฮเดฟฟินิชั่นเพื่อการส่งออก นอกจากนี้ยังมีการจัดสัมมนาเพื่อโน้มน้าวให้สถานีโทรทัศน์และผู้ผลิตรายการหันมาใช้เทคโนโลยีไฮเดฟฟินิชั่นเพื่อรองรับอนาคต โดยมีการชี้ให้เห็นถึงเทรนด์ของตลาดว่าผู้บริโภคมีการรับชมด้วย HD TV มากขึ้น
ค่ายเกาหลีพลิกโฉมสู่ดิจิตอล
ส่ง LED TV ต่อเน็ตได้
การแข่งขันในตลาดทีวีที่รุนแรง ส่งผลให้เทคโนโลยีจอภาพผลัดใบจากทีวีจอแก้วหรือซีอาร์ทีทีวีมาสู่แอลซีดีทีวี ซึ่งมีความละเอียด 2 ระดับคือ HD Ready กับ Full HD ทว่าปัจจุบันเทคโนโลยีจอภาพกำลังเปลี่ยนไปสู่ LED TV ซึ่งมีความละเอียดระดับ Full HD โดยงานนี้ยักษ์แดนโสมอย่างซัมซุงได้ชิงภาพลักษณ์การเป็นผู้นำในการลอนช์ LED TV ก่อนค่ายอื่นๆ ในตลาดเมืองไทย พร้อมอวดโฉมเทคโนโลยีแห่งโลกยุคดิจิตอลที่มีประสิทธิภาพในการเป็นอินเทอร์เน็ตทีวี
โดยในปีที่ผ่านมาซัมซุงมีการลอนช์ LED TV 3 ซีรีส์ ประกอบด้วย รุ่น B8000 เจาะตลาดพรีเมียม B7000 ชูฟังก์ชั่นในการเชื่อมต่อ และอินเทอร์เน็ตทีวี สุดท้ายรุ่น B6000 มีขนาดหน้าจอ 3 ขนาดคือ 40 นิ้ว 46 นิ้ว และ 50 นิ้ว มีราคาเริ่มต้นที่ 79,990 บาท สูงสุดคือ 174,990 บาท
แม้หลายๆ ค่ายจะมีเทคโนโลยี LED TV แต่ก็ยังไม่มีใครนำเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ซัมซุงซึ่งพยายามสร้างภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำในตลาดพรีเมียมจึงใช้โอกาสดังกล่าวในการเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ ตัดหน้าคู่แข่ง เหมือนเช่นที่เคยลอนช์เครื่องเล่นบลูเรย์ดิสก์ตัดหน้าโซนี่ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งทำให้ซัมซุงได้ภาพลักษณ์ในเรื่องของการเป็นผู้นำนวัตกรรมใหม่ๆ ในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในเมืองไทย
ซัมซุงสร้างความแตกต่างด้วยการบรรจุความบันเทิงไว้ใน LED TV ของซัมซุง ซึ่งประกอบด้วยแกลเลอรีภาพ รายการทำอาหาร สุขภาพ รายการเด็ก และเกม ซึ่งลูกค้าสามารถดาวน์โหลดข้อมูลใส่ทีวีเพิ่มเติมได้ อีกทั้งยังรองรับการเป็นอินเทอร์เน็ตทีวีด้วย เพื่อเพิ่มอรรถรสความบันเทิงให้กับผู้บริโภค ทว่าในช่วงแรกยังจำกัดจำนวนเว็บไซต์ที่จะเข้าไปดู เช่น สามารถดูวิดีโอยูทูบได้ ดูหุ้นบนยาฮูได้ ตรวจสอบการพยากรณ์อากาศได้
นอกจากนี้ซัมซุงยังชูเทคโนโลยี DLNA เพื่อให้อุปกรณ์ความบันเทิงต่างๆสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายรูป กล้องถ่ายวิดีโอ คอมพิวเตอร์ และแฟลตพาแนลของซัมซุง สามารถใช้งานเชื่อมต่อกันได้
LED TV แตกต่างจาก LCD TV ตรงที่การใช้เทคโนโลยีแสงสว่าง LED TV ใช้หลอด LED ส่วน LCD TV จะใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ ซึ่งให้แสงสว่างที่น้อยกว่า มีอายุการใช้งานที่สั้นกว่า และมีจุดมืดระหว่างหลอดฟลูออเรสเซนต์ ในขณะที่ LED TV นอกจากจะมีคุณสมบัติเหนือกว่า LCD TV แล้ว ยังรวมเอาจุดเด่นของพลาสม่าทีวีมาไว้ด้วยกันโดยเฉพาะในส่วนของเฉดสีมืด และความคมชัดของภาพเคลื่อนไหว หรือ Motion Picture
ทั้งนี้ LED TV ยังแบ่งย่อยได้เป็น 2 แบบ คือ Edge LED และ Full LED มีความแตกต่างกันตรงที่การเรียงหลอดแอลอีดี โดย เอดจ์ แอลอีดี จะเรียงหลอดแอลอีดีที่ขอบทีวีเท่านั้น ส่วน ฟูลแอลอีดี จะเรียงเม็ดหลอดแอลอีดีตรงกลางจอด้วย ซึ่งแอลอีดีทีวีที่เข้าสู่ตลาดในช่วงแรกจะเป็น เอดจ์ แอลอีดี ต่อมาจึงมีการนำ ฟูลแอลอีดี ทีวี เข้ามา โดยแอลจีเคลมว่าตัวเองเป็นเจ้าแรกที่นำฟูลแอลอีดีเข้ามาทำตลาด
ล่าสุด แอลจี เปิดตัว INFINIA LIVE BORDERLESS ซึ่งมีทั้งแอลซีดีทีวี และฟูลแอลอีดีทีวีสลิม รวมถึงเทคโนโลยีที่รองรับภาพ 3 มิติ โดยในส่วนของแอลอีดีทีวี มีการแบ่งเซกเมนต์ออกเป็น 3 ส่วนเพื่อรองรับทุกความต้องการของตลาด โดย Full LED เจาะตลาดพรีเมียม LED Plus เจาะตลาดระดับกลาง และ Edge LED เจาะตลาดแมส ทั้งนี้ แอลจีคาดว่าในปีหน้าตลาดแอลอีดีทีวีเจาะเข้าสู่ความเป็นตลาดแมสมากขึ้น ปัจจุบัน ตลาดแอลอีดีทีวีคิดเป็นสัดส่วน 30% ของตลาดแอลซีดีทีวี ที่มีปริมาณความต้องการอยู่ที่ 1.2 ล้านเครื่อง
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา LCD TV มีระดับราคาถูกกว่า LED TV 2-3 เท่าตัว ในขณะที่ LED TV ในช่วงแรกจะเจาะไปที่กลุ่ม High Life Seeker ที่สนใจเทคโนโลยี ชอบทดลองเทคโนโลยีใหม่ โดยไม่สนใจว่าราคาจะสูงเพียงใด เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ทว่าปัจจุบัน LED TV มีราคาสูงกว่าแอลซีดีทีวีเพียง 10-20% สามารถหาซื้อได้ในระดับราคา 30,000 กว่าบาท ขณะที่แอลซีดีทีวี ฟูลเอชดี 32 นิ้ว มีราคาเหลือเพียง 16,990 บาท ปัจจัยเหล่านี้ยิ่งผลักดันให้ HD TV ในเมืองไทยขยายฐานกว้างขึ้น ประกอบกับผู้ผลิตรายการ และผู้ให้บริการทีวีดาวเทียมต่างหันมาให้ความสำคัญกับการรับชมภาพในระบบดิจิตอลมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ HD TV เป็นคำตอบเดียวสำหรับตลาดทีวีในบ้านเรา
ทั้งนี้ LED TV ยังมิใช่ที่สุดแห่งจอภาพในปัจจุบัน เพราะยังมีเทคโนโลยีจอแบบ OLED (Organic Light-Emitting Diode) ที่มีความบาง สามารถดัดโค้งได้เหมือนแผ่นกระดาษ ซึ่งปัจจุบันโซนี่กำลังพัฒนาในรูปแบบของ e-Book ทว่ามีราคาที่แพงมากจึงต้องใช้ระยะเวลาอีกยาวนานพอสมควรกว่าจะพัฒนาเข้าสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์
นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนบริษัทเอกชนอย่าง โซนี่ ชาร์ป Sumitomo Chemical และ Hitachi Zosen ในการพัฒนา OLED TV โดย องค์การพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและพลังงานทดแทน New Energy and Industrial Technology Development Organization หรือ NEDO ซึ่งเป็นสำนักงานของรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์การทำวิจัยเทคโนโลยีใหม่ในประเทศญี่ปุ่น คาดการณ์ไว้ว่า บริษัทผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ญี่ปุ่นจะสามารถผลิตหน้าจอ OLED TV ขนาด 40 นิ้วได้หลังปี 2015 อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้โซนี่ได้พัฒนา OLED TV ความบาง 3 มิลลิเมตร มีขนาดหน้าจอ 11 นิ้ว จำหน่ายในราคาสูงกว่าจอ LCD ทั่วไปถึง 10 เท่าตัว
ที่มาโดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น