"like ปลอม" มัลแวร์เฟสบุ๊กยอดยี้

"like ปลอม" มัลแวร์เฟสบุ๊กยอดยี้
[ลักษณะข้อความที่โพสต์ในเฟสบุ๊กซึ่งมีสถิติการกด“like”จำนวนมากโดยเพื่อนหลายคน ]
เตือนภัยอย่าหลงเชื่อข้อความโพสต์ในเฟสบุ๊กเกี่ยวกับบุคคลสำคัญที่มีสถิติการกด“like”จำนวนมากโดยเพื่อนหลายคน ซึ่งมักทำให้ผู้อ่านหลงเชื่อและสนใจคลิกเข้าไปอ่านบทความหลุมพรางนั้นทันที และเมื่อคลิกแล้ว โพสต์นั้นจะถูกส่งไปแสดงบนหน้าเฟสบุ๊กหรือ Facebook wall โดยอัตโนมัติ ก่อนจะหลอกลวงเพื่อนสมาชิกในกลุ่มของเหยื่อต่อไปเป็นทอดๆ

รายงานจากสำนักข่าวบีบีซีระบุว่า ขณะนี้เฟสบุ๊กเต็มไปด้วยภัยมัลแวร์หรือซอฟต์แวร์ไม่ประสงค์ดีซึ่งใช้กลลวงดังกล่าว โดยยกตัวอย่างข้อความที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับบุคคลชื่อดังซึ่งจงใจตั้งชื่อให้น่าสนใจ เช่น "Justin Bieber’s phone number" เพื่อหลอกล่อสาวกของนักร้องหนุ่มน้อยจัสติน บีเบอร์ ให้หลงเชื่อว่ามีเบอร์โทรศัพท์ของนักร้องหนุ่มน้อยจริง เป็นต้น โดยข้อความดังกล่าวถูกตั้งโปรแกรมให้แสดงสถานะ “like” อัตโนมัติซึ่งผู้เปิดอ่านไม่ได้คลิกเมาส์เอง

สื่อมวลชนต่างประเทศเรียกการโกงคลิกลักษณะนี้ว่า “คลิกแจ็ค (clickjack)” เลียนแบบการโจมตีของสลัดอากาศที่เรียกว่าไฮแจ็ก พร้อมระบุว่าภัยคลิกแจ็คนั้นแพร่ระบาดในเฟสบุ๊กมานานหลายสัปดาห์แล้ว

อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบความเสียหายในคอมพิวเตอร์ที่ตกเป็นเหยื่อภัยคลิกแจ็คในขณะนี้ โดยผู้ใช้เฟสบุ๊กจะเกิดเพียงความรำคาญเพราะการไม่พบข้อมูลที่ถูกใจทั้งที่เห็นว่าเพื่อนสนิทให้คะแนน like ไว้เท่านั้น

แม้จะไม่พบอันตราย แต่นักวิเคราะห์นั้นเชื่อว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของพัฒนาการภัยบนเฟสบุ๊กเท่านั้น เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่นักเจาะระบบทั้งหลายจะพยายามใช้เทคนิคคลิกแจ็ค หรือเทคนิกการกดคลิกอัตโนมัติโดยที่ผู้ใช้ไม่รู้ตัว เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำงานของมัลแวร์ที่มุ่งปั่นป่วนโดยใช้ความน่าเชื่อถือเป็นหลัก

นี่ถือเป็นอีกความเคลื่อนไหวในการล่อลวงออนไลน์ที่ใช้ความสัมพันธ์ทางสังคมเป็นเครื่องมือ สำหรับเฟสบุ๊ก รายงานจากเว็บไซต์ BioScholar ระบุว่าพบกรณีฟิชชิง (phishing) หรือภัยขโมยยูเซอร์เนมและพาสเวิร์ดด้วยการสร้างหน้าต่างที่น่าเชื่อถือขึ้นมาตบตาเหยื่อถึง 3 กรณี โดยรายงานพบว่าผู้ใช้เฟสบุ๊กพบหน้าต่างปลอมที่หวังล่อให้ผู้ใช้กรอกข้อมูลรหัสผ่านของตัวเองหลังการกดดาวน์โหลดวิดีโอเพื่อชมภาพ ซึ่งยังไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมถึงภัยฟิชชิ่งนี้

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อสรุปว่าผู้ใช้เฟสบุ๊กจะสามารถคลิกลิงก์ใดจึงปลอดภัย หรือข้อมูลจุดสังเกตเพื่อหลีกเลี่ยงภัยมัลแวร์บนเฟสบุ๊กในขณะนี้ ซึ่งคาดว่าในอนาคต บริษัทแอนตี้ไวรัสจะออกมาให้ข้อมูลในจุดนี้ได้ชัดเจนขึ้น

Company Related Links :
Facebook

ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น