5 เรื่องร้อนวงการไอที ปี 53
ภาพรวมความเคลื่อนไหวของวงการไอทีในประเทศค่อนข้างคล้ายคลึงกับในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือ กระแสการเปิดตัวแท็บเล็ตที่่ส่งผลให้รูปแบบการใช้งานคอมพิวเตอร์เปลี่ยนไป จนกระทั่งอุตสาหกรรมต่างๆต้องปรับตัวรองรับการทำงานของอุปกรณ์พกพา
***ปรากฏการณ์ ม็อบออนไลน์
เหตุการณ์สำคัญของกลุ่มชาวเครือข่ายสังคมออนไลน์ในปีนี้ถูกจับตามองไปที่ การเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงกลางปีที่ผ่านมา กับวิกฤตการเมืองที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นกลางย่านการค้าอย่างบริเวณราชประสงค์ และสีลม
ส่งผลให้มีการตั้งกลุ่มบนเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก และการรวมตัวกันของกลุ่มคนในทวิตเตอร์ ออกมาทำสาธารณะประโยชน์ รวมทั้งการเคลื่อนไหวการชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญของกลุ่มเสื้อหลากสี ร่วมกับ "กลุ่มมั่นใจคนไทยเกิน 1 ล้านคนต่อต้านการยุบสภา" และอีกหลายกลุ่มในแนวทางเดียวกัน
รวมถึงการแจ้งเกิดศัพท์ใหม่ของสังคมออนไลน์อย่างคำว่า "เหวง" ใช้เรียกการพูดจาวกวน ฟังไม่ได้ศัพท์ ที่คาดว่าเกิดจากการรับชมถ่ายทอดสดการเจรจาระหว่างรัฐบาล นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับแกนนำเสื้อแดง ที่มี น.พ.เหวง โตจิราการ ที่เกิดจากการโพสต์ศัพท์ดังกล่าว จนกลายเป็นกระแสนิยมออกมา
ขณะเดียวกันการรวมกลุ่มกันทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ ไม่ได้หยุดแค่เพียงการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิเท่านั้น แต่ยังมีการเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือสังคม อย่างเมื่อตอนเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ก็มีการรวมตัวกันของกลุ่มคนในโลกออนไลน์ บริจาคปัจจัย-สิ่งของ รวมถึงร่วมแรงร่วมใจเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่อีกด้วย
***งานแฟร์ไอที อ่วมน้ำท่ม-การเมือง
ขณะที่งานแฟร์สินค้าไอทีอย่าง คอมมาร์ต และ คอมเวิลด์ ที่มีกำหนดจัดในตลอดทั้งปี ก็ได้รับผลกระทบในการจัดงานไม่ว่าจะเป็นช่วงกลางปี หลังจากเกิดวิกฤติการทางการเมือง ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงสินปีที่เกิดอุทกภัย ทำให้รายได้รวมของตลาดคอมพิวเตอร์ในปีนี้ ไม่เป็นไปตามที่ทางไอดีซีตั้งเป้าไว้
โดยทางเอเซอร์เคยให้ข้อมูลไว้ในช่วงปลายปีว่า การเติบโตของธุรกิจไอทีในปีนี้ น่าจะอยู่ที่ 6-10% เท่านั้น จากเดิมที่ทางไอดีซีคาดการณ์ไว้ไม่ต่ำกว่า 15% ซึ่งผลกระทบส่วนใหญ่มาจากทั้ง 2 เหตุการณ์ข้างต้น ทำให้ผู้ซื้อไม่ค่อยเกิดการจับจ่ายใช้สอย กับสินค้าที่ยังไม่มีความจำเป็น
**กล้องไร้กระจกครองเมือง
กล้องไร้กระจก (Mirrorless) นั้นเริ่มเข้ามาสู่ตลาดกล้องดิจิตอลในเมืองไทยตั้งแต่ปลายปี 2552 โดยโอลิมปัส และพานาโซนิก ที่ต้องการทำให้กล้อง DSLR มีขนาดเล็กลงเนื่องจากกล้อง DSLR ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีขนาดใหญ่ เพราะใช้กระจกสะท้อนแสงจากเลนส์ เข้าสู่ช่องมองภาพ ดังนั้นการตัดกระจกออกไปเลยทำให้กล้องมีขนาดเล็กลง
สำหรับในบ้านเรานั้นโอลิมปัส E-P1 ถือเป็นตัวเปิดตลาดที่ทำให้คนเริ่มหันมาให้ความสนใจกล้องตระกูลนี้ ตามมาด้วยพานาโซนิก GF1 จนล่าสุด หลังจากที่ผู้ผลิตกล้องรายใหญ่จากแดนปลาดิบอย่างโซนีได้มีการเปิดตัวกล้องไร้กระจก ตระกูล NEX (NEX-3, NEX-5) พร้อมเลนส์ E-Mount และความสามารถในการใช้งานร่วมกับเลนส์ของกล้อง DSRL ของโซนี่, มินอลต้า ในราคาเริ่มต้นที่ 18,900บาท ก็ทำให้ตลาดกล้องไร้กระจกในบ้านเราเติบโตสูงขึ้นอย่างน่าใจหาย ขนาดที่ว่ากล้องตระกูลนี้กำลังจะกลืนกินกล้องตระกูล DSLR-Like ในบ้านเราให้หายไป
เชื่อไม่เชื่อก็ดูได้จากจำนวนความต้องการของกล้องตระกูล NEX ที่ในช่วง 3 เดือนแรกของการเปิดตัวออกสู่สายตาคนไทยอย่างเป็นทางการ ลูกค้าที่สนใจต้องทำการจองผ่านหน้าร้านค้าตัวแทนจำหน่าย แม้ว่าโรงงานผลิตเองจะอยู่ในเมืองไทย แต่ก็ไม่สามารถผลิตสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคได้
งานนี้เหมือนเป็นการจุดไฟสงครามกล้องไร้กระจก ทำให้ผู้ผลิตกล้องหลายรายหันมาให้ความสนใจผลิตกล้องตัวนี้ออกสู่ตลาด ดูอย่างซัมซุงที่ส่ง NX10 และ NX100 มาลงสนามแข่ง, พานาโซนิกที่เตรียมเปิดตัว GF2 ในเมืองไทย รวมถึงข่าวรือที่ออกมาหนาหูว่าในปีหน้านี้ แคนนอน และนิคอนก็เตรียมหันมาลงสนามแข่งนี้เช่นกัน
***แท็บเล็ต ทางเลือกใหม่ของวงการ
การเปิดตัว iPad แท็บเล็ตจากแอปเปิลในช่วงต้นปี ถือเป็นไฮไลท์สำคัญในการขับเคลื่อนตลาดอุปกรณ์พกพาในปีนี้ เนื่องจากกระแสความต้องการของผู้ใช้ในตลาดเริ่มมีมากขึ้น รวมถึงยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ ทันสมัยให้กับผู้ใช้ โดยในการขายในเบื้องต้นจะเป็นการนำเข้าอย่างผิดกฏหมาย
ก่อนที่ทางไอสตูดิโอ เริ่มวางจำหน่าย iPad อย่างเป็นทางการในประเทศไทยวันที่ 3 ธันวาคม ที่ผ่านมาในราคาเริ่มต้น 15,900 บาท ซึ่งเมื่อตอนเครื่องหิ้ววางจำหน่ายรุ่นเดียวกันนี้เคยราคาขึ้นไปสูงถึง 26,000 บาท
ขณะที่ทางซัมซุงเองก็ไม่ยอมน้อยหน้าในตลาดแท็บเล็ตเข็น Samsung Galaxy Tab ออกมาวางจำหน่ายในช่วงเดือนกันยายน ร่วมกันทางเอไอเอส ในการผูกโปรโมชันเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตฟรีจำนวนหนึ่ง ในราคา 22,900 บาท มาดึงกลุ่มผู้ต้องการใช้งานแท็บเล็ตในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์
ยังไม่นับรวมการทำตลาดแท็บเล็ตจากแบรนด์เกาหลีอีกรายอย่าง แอลจี เฮาส์แบรนด์อย่าง เวลคอม ไอ-โมบาย ที่ออกมาเน้นขายเครื่องราคาถูก ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เช่นเดียวกัน ทำให้เชื่อได้ว่าทิศทางตลาดแท็บเล็ตยังมีการเติบโตอีกมากในปีหน้า
***แอปฯบูม เปลี่ยนรูปแบบโมบาย-คอนเทนต์
การเติบโตของแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในโลกของอุตสาหกรรมเกือบทุกประเภท ที่ผลิตแอปพลิเคชันขึ้นมา เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งาน แน่นอนว่าสื่อสารมวลชนเองก็ต้องมีการปรับตัวเช่นกัน
โดยในเครือผู้จัดการหลังจากที่นำร่องเปิดให้บริการแอปพลิเคชัน "ASTVผู้จัดการ" บนไอโฟนไปเมื่อปีที่ผ่านมา ในปีนี้จึงเน้นไปที่การพัฒนาเว็บแอปฯให้ผู้ใช้โทรศัพท์ทุกรุ่นสามารถเข้ามาติดตามข่าวสารได้ ก่อนที่จะมีการเปิดตัวแอปฯสำหรับสมาร์ทโฟนเวอร์ชันเต็มในปี 2554
ขณะที่ทางกองบรรณาธิการนิตยสาร Mars ก็ได้มีการออกดิจิตอลแมกกาซีนสำหรับอ่านฟรีบน iPad ในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติวงการนิตยสารในประเทศไทย เนื่องจากเป็นดิจิตอลแมกกาซีน รายแรกในประเทศไทย ที่เปิดให้ดาวน์โหลดและอ่านฟรีบน iPad ทั้งยังมีรูปแบบการใช้งานที่ไม่เหมือนกับการเปิดอ่านนิตยสารทั่วไป
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น