"แท็บเลต"แบรนด์เล็กชักแถวบุกไทย วิ่งหาตัวแทนขาย-"เอสไอเอส"ไม่สนแจงอายุไม่ยืน

สมรภูมิ "แท็บเลต" คึกคักแบรนด์เล็กหน้าใหม่ชิงลงมือเปิดทำตลาดก่อนที่ยักษ์ใหญ่จะส่งสินค้า เข้าตลาด"เอสไอเอส"

เผยผู้ผลิตจีนและอื่น ๆ เข้ามาจีบเป็นตัวแทน 7-8 แบรนด์ ชี้รายเล็กมีโอกาสทำตลาดช่วงเวลา สั้น ๆ ปลายปีก็จะหายไปจากตลาด เหตุยักษ์ใหญ่เตรียมขนสินค้าเข้าตลาดเต็มพิกัด โมโตโรล่าชิงส่ง Zoom เข้าตลาดไทย เม.ย.นี้ ด้าน "อาร์คอส" น้องใหม่สัญชาติฝรั่งเศส ไม่กลัวน้ำร้อนประเดิมส่งแท็บเลต 5 รุ่น ราคา เริ่มต้น 9,900 บาท
นาย สมชัย สิทธิชัยศรีชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ เอสไอเอส บริษัทค้าส่งไอทีรายใหญ่กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ตลาดแท็บเลตในประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ทำให้นอกจากผู้เล่นรายใหญ่ทั้งฝั่งมือถือและคอมพิวเตอร์ให้ความสนใจและ เตรียมส่งสินค้าเข้าสู่ตลาดภายในกลางปีนี้ ขณะเดียวกัน ก็มีความเคลื่อนไหวของผู้เล่นหน้าใหม่ทั้งสินค้าจากแบรนด์จีนและอื่น ๆ ต้องการเข้ามาเปิดตลาดแท็บเลตในไทยเพราะต่างเห็นโอกาสทางธุรกิจ โดยรายเล็ก ๆ นั้นจะอาศัยความได้เปรียบด้านความเร็วในการออกสินค้า และความคล่องตัวที่มีมากกว่าผู้ผลิตรายใหญ่

"ช่วงที่ผ่านมาเอสไอเอส ก็ได้รับการติดต่อจากผู้ผลิตแท็บเลตรายเล็ก ๆ ประมาณ 7-8 ราย เพื่อให้เป็นตัวแทนจำหน่าย แต่ได้ปฏิเสธไป เนื่องจากบริษัทเห็นแล้วว่าโรดแมปของสินค้า อินเตอร์แบรนด์หลายรายกำลังมา ทำให้ไม่กล้าทำตลาดยี่ห้อแปลก ๆ เพราะเวลาทำการค้าขายต้องรับผิดชอบเยอะ"

นอก จากนี้ ในระยะยาวตนเชื่อว่า ผู้ผลิตรายเล็ก ๆ อาจประสบความยากลำบากหลังจากผู้ผลิตรายใหญ่วางจำหน่ายสินค้าอย่างเป็นทางการ เพราะผู้เล่นหน้าใหม่ขาดความคุ้นเคยเรื่อง ช่องทางจำหน่าย ขณะเดียวกัน พฤติกรรมการซื้อแท็บเลตของผู้บริโภคส่วนมากลูกค้าจะศึกษาข้อมูลและเลือกแบ รนด์ที่ชื่นชอบ ลูกค้าที่จะซื้อแท็บเลตของผู้เล่นรายใหม่ ๆ อาจมีสัดส่วนน้อย

โดยประเมินว่าปี 2554 ตลาดแท็บเลตในไทยจะอยู่ที่ประมาณ 2 แสนเครื่อง ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกก่อนที่อินเตอร์แบรนด์จะส่งสินค้าเข้าสู่ตลาดได้อย่าง เต็มที่ ก็น่าจะเป็นโอกาสของรายเล็ก ๆ ในการสร้างสีสันให้กับตลาด แต่ก็เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ และคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังก็จะค่อย ๆ หายไปจากตลาด

"ตลาดของแท็บเลตอาจจะเหมือนเน็ตบุ๊กที่ช่วงแรกจะมี ยี่ห้อประหลาด ๆ เข้ามา แต่สุดท้ายจะเหลือแบรนด์ใหญ่ที่มีความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นจากฝั่งผู้ผลิตมือถือหรือคอมพิวเตอร์ แต่สุดท้ายอินเตอร์แบรนด์จะครองสัดส่วนใหญ่ในตลาดเกือบ 100%"

อย่าง ไรก็ดี แท็บเลตของผู้เล่นรายต่าง ๆ ที่ออกสู่ตลาดในช่วงนี้ ส่วนใหญ่ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 2.2 ซึ่งเหมาะกับสมาร์ทโฟนมากกว่าขณะที่ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 3.0 ซึ่งเหมาะสมกับแท็บเลตนั้น กูเกิลเตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยมีโมโตโรล่าเป็นผู้ผลิตรายแรกบนแท็บเลตรุ่น "Zoom" จากนั้นค่อยเปิดโอกาสให้บริษัทอื่น ๆ ต่อไป

สำหรับประเทศไทย เอสไอเอสคาดว่าจะสามารถนำโมโตโรล่า Zoom เข้ามาทำตลาดได้ในช่วงเดือนเมษายน เนื่องจากบริษัทจะผลิตสินค้าป้อนตลาดสหรัฐก่อน

ด้านนายสุทธินัน ท์ สุพัสตราชีวะผู้จัดการทั่วไป บริษัท อาร์ซีคอมโปเนนท์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้นำแท็บเลตแบรนด์ "Archos" (อาร์คอส) เข้ามาทำตลาด กล่าวว่า บริษัทเป็นตัวแทน จำหน่ายอุปกรณ์ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่ 2547 ปีนี้ได้เพิ่มสินค้าโดยเป็น ตัวแทนจำหน่ายแท็บเลตยี่ห้อ "Archos" จากประเทศฝรั่งเศสเข้ามาทำตลาดเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม ขณะเดียวกัน เห็น โอกาสการเติบโตของตลาดแท็บเลตในไทย แม้ว่าแบรนด์อาร์คอสจะยังไม่เป็นที่รู้จักกับลูกค้าในไทย ทำให้ต้องเน้นให้ความรู้ ณ จุดขายเป็นหลัก แต่ด้วยสินค้าที่ดีไซน์ยุโรป น้ำหนักเบา ราคาย่อมเยากว่าอินเตอร์แบรนด์ ทำให้เชื่อว่าจะมีลูกค้าบางส่วนที่ชื่นชอบ

สำหรับแท็บเลตอาร์คอส ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 2.2 มาพร้อมกับขาตั้งในตัว แบตเตอรี่แบบลิเทียมโพลิเมอร์ นาน 8 ชั่วโมง เว็บแคมด้านหน้า รองรับไว-ไฟ บลูทูท และยูเอสบี พร้อม HDMI to TV ทั้งหมด 5 รุ่น ขนาด 4.3 นิ้ว ราคา 9,900 บาท ขนาด 7 นิ้ว ความจุ 8 GB ราคา 12,500 บาท ขนาด 7 นิ้ว ความจุ 250 GB ราคา 13,900 บาท และขนาด 10 นิ้ว ความจุ 8 GB ราคา 13,900 บาท และขนาด 10 นิ้ว 16 GB ราคา 15,900 บาท (ราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) รับประกัน 1 ปี

ใน ช่วง 3 เดือนแรกจะเน้นการวางจำหน่ายร้านค้าใน กทม. 15-20 แห่ง โดยจะควบคุมให้ศูนย์ไอทีแต่ละแห่งมีร้านค้าที่ขายอาร์คอสไม่เกิน 2-3 ราย และกระจายตามหัวเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น จากปัจจุบันมีร้านค้าตัวแทนจำหน่ายทั้งหมด 200 ร้าน หลังจากนั้นจะมีการจัดกิจกรรมการตลาดมากขึ้น และภายในปีนี้มีแผนจะนำเข้าแท็บเลตที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ แบรนด์ "Viliv" จากเกาหลีใต้เข้ามาจำหน่ายเพิ่มอีกแบรนด์
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น