ครั้งแรกในประเทศไทยกับ'โรบอทแอทโฮม'

แข่งขันหุ่นยนต์บริการ

หลังจากส่งเสริม สนับสนุน และเปิดเวทีการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย จนทำให้เยาวชนไทยได้ไปแสดงศักยภาพคว้าแชมป์โลกมาแล้วถึง 5 สมัยซ้อนล่าสุด สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยมหิดล และเอสซีจี ได้ร่วมกันเปิดเวที“แข่งขันหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2554” หรือ “ไทยแลนด์ โรบอทแอทโฮม แชมเปี้ยนชิพ 2011” ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมกับส่งเสริมเยาวชนทีมที่ชนะเลิศเข้าร่วมแข่งขันในระดับโลก เวิลด์โรโบคัพ : โรบอทแอทโฮม ที่ประเทศเม็กซิโก ในปี 2555 ทั้งนี้ ในงานเปิดตัวโครงการ ได้มีการโชว์ศักยภาพหุ่นยนต์ให้บริการสัญชาติไทย อย่างเช่น หุ่นยนต์ดินสอ และหุ่นยนต์น้องนะโม ที่มาแสดงความสามารถจดจำรูปร่างหน้าตาของมนุษย์ หรือการแยกสี และรูปร่างของผลไม้แต่ละชนิดอีกด้วย

นางวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เอสซีจี กล่าวว่า จากการที่ได้ร่วมสนับสนุนจัดการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยอย่างต่อเนื่อง 7 ปี และเยาวชนไทยสามารถคว้าแชมป์โลกมาได้ 5 ปีซ้อน ทำให้เห็นศักยภาพและความสามารถของเยาวชนไทย ในด้านการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมหุ่นยนต์ และต่อยอดสามารถนำไปใช้ได้จริง และเพื่อพัฒนาความสามารถของเยาวชนไทยอีกด้านหนึ่ง จึงได้ร่วมกันจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ให้บริการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เนื่องจากแนวโน้มในอนาคต จะมีการนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยในงานด้านบริการ และการรับใช้ภายในบ้าน อย่างที่หลายประเทศเริ่มมีการนำมาใช้บ้างแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เป็นต้น

ดร.ถวิดา มณีวรรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแข่งขันโรบอทแอทโฮมจะส่งเสริมให้เยาวชนพัฒนาหุ่นยนต์ให้สามารถติดต่อปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ได้ ให้บริการและช่วยเหลืองานต่าง ๆ ในบ้าน ที่พักอาศัย เพื่อการดำรงชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการช่วยเหลือผู้ป่วย หรือผู้ทุพพลภาพ และนับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะช่วยส่งเสริมให้เยาวชนที่เรียนอยู่ในสาขาต่าง ๆ ทั้งด้านวิศวกรรม ศิลปะ และการออกแบบ เกิดการตื่นตัวและรวมทีมกันมาสมัครเข้าร่วมโครงการ เพื่อช่วยกันสร้างสรรค์ผลงาน และยกระดับการพัฒนาหุ่นยนต์บริการของไทยให้มีความสวยงาม ทันสมัย ใช้งานได้จริงและมีมาตรฐานเทียบเท่าในระดับสากล

โดยสมาคมจะเผยแพร่ให้ความรู้แก่เยาวชน บุคลากรในองค์กรและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ รวมถึงประชาชนทั่วไปให้รู้จักกับหุ่นยนต์บริการมากยิ่งขึ้น โดยการจัดอบรมให้ความรู้และเสริมทักษะในการพัฒนาศักยภาพ รวมถึงเทคนิคและกลไกต่าง ๆของหุ่นยนต์ การให้ความรู้ในเรื่องกฎกติกาในการแข่งขันระดับสากล รวมถึงสนับสนุนด้านวิชาการการแลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีเกี่ยวกับการพัฒนาหุ่นยนต์บริการระหว่างสถาบันต่าง ๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานของหุ่นยนต์บริการของไทย

ด้าน ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะเจ้าภาพจัดการแข่งขัน กล่าวว่า กติกาการแข่งขันจะเป็นการจำลองสถานการณ์และสถานที่ภายในบ้าน รวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์ โดยมีหุ่นยนต์เป็นผู้ช่วยเหลือ เช่น การทำงานทดแทนมนุษย์ หรือแม้กระทั่งการสื่อสารพูดคุย และทำกิจกรรมร่วมกัน โดยจะทดสอบหุ่นยนต์ตามพันธกิจต่าง ๆ อาทิ หุ่นยนต์ต้องสามารถเคลื่อนที่ไปตามเส้นทางตามแผนที่จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งได้ เคลื่อนที่หลบสิ่งกีดขวางหรือสิ่งที่เคลื่อนไหวที่ไม่ทราบทิศทางไปยังจุดหมายที่กำหนดได้ สามารถโต้ตอบและรับคำสั่งงานจากมนุษย์ได้ จดจำและแยกแยะใบหน้าของมนุษย์ได้ มีกลไกที่สามารถเคลื่อนย้ายสิ่งของจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งได้ เช่น หยิบจับแก้วน้ำเคลื่อนย้ายได้ เป็นต้น และการออกแบบรูปลักษณ์ของหุ่นยนต์ต้องสามารถแสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย

น้อง ๆ ที่สนใจสามารถฟอร์มทีมไว้ให้ดี เพราะเปิดรับสมัครในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ และติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.trs.or.th.

สาวสายเดี่ยว
ที่มา เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น