ปีหน้าชาวออนไลน์ไทยใช้ 'โมบายอินเทอร์เน็ต' เกินครึ่ง

นีลเส็น เผยผลการสำรวจความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ พบชาวไทยใช้เน็ตบนมือถือมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีแนวโน้มว่าจะมีอัตราการใช้งานในกลุ่มของผู้ที่บริโภคสื่อดิจิตอลเพิ่มขึ้นเป็น 56% ในปีหน้า

นีลเส็น บริษัทวิจัยการตลาดและจัดเก็บข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภคทั่วโลก เปิดเผยข้อมูลว่า จากการวิจัยเบื้องต้นเกี่ยวกับ
 "ผู้บริโภคสื่อดิจิตอลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" (Southeast Asia Digital Consumer Report) ซึ่งจะเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 30 กันยายนนี้ พบว่า 56% ของชาวออนไลน์มีแนวโน้มใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือใน 12 เดือนข้างหน้า และ 29% ตั้งใจใช้อินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์พกพาอื่นๆ

แอรอน ครอส กรรมการผู้จัดการ ส่วนคอนซูมเมอร์ นีลเส็น ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจัยหลังที่ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ต เกิดขึ้นจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ รวมถึงการมีสมาร์ทโฟนอย่าง ไอโฟน แบล็กเบอรี ทำให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ทุกที่ ทุกเวลา แสดงให้เห็นศักยภาพในการเติบโตอย่างแท้จริง แม้ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังคงไม่มีเครือข่าย 3G

ในขณะที่การใช้อินเตอร์เน็ตบนมือถือในประเทศไทยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ประเทศไทยกลับเป็นหนึ่งในประเทศที่ยังมีระดับการใช้อินเตอร์เน็ตโดยรวมต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากผลการรายงายพบว่าน้อยกว่า 1 ใน 3 ของประชากรที่อายุ 15 ปีขึ้นไป (31%) ในประเทศไทยใช้อินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน

ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ 7% และต่ำกว่าประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีประชากรที่อายุ 15 ปีขึ้นไปใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 36% และจากรายงานยังพบว่าอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีต่ำที่สุดในกลุ่มประชากรที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งมีเพียง 7% เท่านั้นที่เข้าใช้อินเทอร์เน็ต

หากกล่าวถึงความถี่ในการออนไลน์ นีลเส็นพบว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยมีความถี่ในการออนไลน์ที่บ่อยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อันได้แก่ 7 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่หากเปรียบเทียบถึงการเข้าใช้ "ต่อวัน" สิงคโปร์ (80%) จัดอยู่ในลำดับแรกที่มีปริมาณผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ต่อวันสูงที่สุด โดยอันดับรองลงมาคือ มาเลเชีย (53%) ส่วนประเทศไทยพบ จำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตโดยรวมเพียง 36% เท่านั้นที่เข้าใช้อินเทอร์เน็ตต่อวัน

แอรอน กล่าวเสริมว่า การที่ในประเทศไทยยังมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ต่ำและผู้บริโภคมีระดับการเข้าใช้อินเทอร์เน็ตที่ไม่บ่อยนัก ส่งผลให้สื่อดิจิตอลยังมีโอกาสหรือช่องทางสำคัญอีกมากในการเติบโตในประเทศไทย
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น