10 เรื่องเซอร์ไพรส์หลัง Facebook ยื่นหนังสือเข้าตลาด

Mark Zuckerberg ซีอีโอเฟซบุ๊ก
10 เรื่องเซอร์ไพรส์หลัง Facebook ยื่นหนังสือเข้าตลาด : Cyber Talk
หลังจากเครือข่ายสังคมยักษ์ใหญ่ Facebook ยื่นหนังสือเตรียมจำหน่ายหุ้น IPO เพื่อผันตัวเองเป็นบริษัทมหาชนอย่างเป็นทางการ ข้อมูลมากมายถูกเปิดเผยและสร้างความประหลาดใจให้นักสังเกตการณ์ทั่วโลก ต่อไปนี้คือ 10 เรื่องที่สื่อต่างประเทศลงความเห็นว่าสร้างความเซอร์ไพร์สมากที่สุด

1. จำนวนผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก : เอกสารระบุว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กมีจำนวน 845 ล้านคน เป็นตัวเลขที่มากกว่าสถิติที่บริษัทเคยประกาศไว้เมื่อเดือนกันยายนถึง 45 ล้านคน เฉลี่ยแล้ว เฟซบุ๊กมีแอคทีฟยูสเซอร์มากกว่า 483 ล้านคนต่อวัน ทุกคนมีส่วนช่วยให้ปริมาณคอมเมนต์และการกด Like บนเฟซบุ๊กทะลุ 2.7 พันล้านครั้ง และปริมาณภาพกว่า 250 ล้านรูปที่ถูกอัปโหลดต่อวัน

2. จำนวนความเป็นเพื่อน : โลกนี้ยังไม่มีการทำสำรวจของค่ายใดที่สะท้อนปริมาณเพื่อนหรือความสัมพันธ์ (relationship) ของสมาชิกเฟซบุ๊กอย่างชัดเจน วันนี้เฟซบุ๊กอาสานับรวมให้โดยประกาศว่าปริมาณความเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กนั้นทะลุ 1 แสนล้าน relationship แล้ว ตัวเลขนี้บังเอิญไปซ้ำกับตัวเลขมูลค่าตลาดที่นักวิเคราะห์คาดว่ามูลค่าหุ้นเฟซบุ๊กหลังขาย IPO อาจจะทะลุ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯก็ได้ คิดเล่นๆจะเท่ากับ relationship ละ 1 เหรียญสหรัฐพอดี

3. รายรับของเฟซบุ๊ก : เฟซบุ๊กประกาศชัดเจนว่ามีรายรับ 3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐช่วงปีที่ผ่านมา คิดเป็นกำไร 1 พันล้านเหรียญ เมื่อเฉลี่ยรายรับรวมกับจำนวนสมาชิกเฟซบุ๊กแล้ว จะเท่ากับสมาชิกสร้างเงินให้เฟซบุ้กรายละ 4.62 เหรียญต่อเดือน (ราว 143 บาท)

4. ซีอีโอไข่ในหิน : เอกสารของเฟซบุ๊กทำให้โลกรู้ว่าซีอีโอเฟซบุ๊ก มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก นั้นได้รับการดูแลเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยชนิดไข่ในหิน ทั้งการ์ดหรือทีมงานและระบบรักษาความปลอดภัยที่ต้องติดตั้งในบ้านล้วนเป็นค่าใช้จ่ายของเฟซบุ๊ก โดยถูกรวมไว้เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆในนามซีอีโอซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 783,529 เหรียญในปี 2011 (ราว 24 ล้านบาท)

5. แผนครองโลก : อย่าคิดว่าข้อนี้เป็นเซอร์ไพร์สไร้สาระ เพราะนี้คือเรื่องจริงที่เฟซบุ๊กกำลังมุ่งครองตลาดโลกอย่างจริงจัง วันนี้รายได้ของเฟซบุ๊กมาจากประเทศอื่นที่ไม่ใช้สหรัฐฯมากขึ้นเรื่อยๆ และการรองรับภาษากว่า 70 ภาษาของเฟซบุ๊กก็ยิ่งทำให้เฟซบุ๊กสามารถครองตลาดเกิดใหม่ทั้งบราซิล อินเดีย และจีนซึ่งมีปริมาณการเติบโตสูงมาก สำหรับประเทศที่เฟซบุ๊กยังไม่สามารถขยายตลาดได้เท่าที่ควรเพราะยังมียักษ์ใหญ่เครือข่ายสังคมท้องถิ่นที่ครองตลาดอยู่ คือรัสเซียและญี่ปุ่น ซึ่งมีแนวโน้มว่าเฟซบุ๊กจะพยายามยกระดับตัวเองให้มากขึ้น

6. ปัญหาอยู่ที่มือถือ : เซอร์ไพร์สสำคัญเรื่องหนึ่งที่พบจากเอกสารของเฟซบุ๊กคือแนวโน้มว่าเฟซบุ๊กกำลังมีปัญหากับตลาดอุปกรณ์มือถือ วันนี้เฟซบุ๊กยังไม่ได้ติดพื้นที่โฆษณาในแอปพลิเคชันสำหรับผู้ใช้เฟซบุ๊กบนอุปกรณ์พกพาทั้งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต เรื่องนี้เฟซบุ๊กยอมรับเองว่าเป็นห่วงเรื่องเทรนด์การใช้งานเฟซบุ๊กบนอุปกรณ์พกพาที่อาจจะกระทบต่อผลประกอบการของบริษัท ซึ่งตอนนี้บริษัทกำลังหาวิธีทำการตลาดบนอุปกรร์พกพาที่เหมาะสมและไม่สร้างความรบกวนแก่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ
อิริยาบทสบายๆของซีอีโอเฟซบุ๊ก ซึ่งกำลังจะกลายเป็นบริษัทมหาชนในเร็ววันนี้
7. พฤติกรรมชาวเฟซบุ๊ก : หลังจากยื่นหนังสือเข้าตลาด เรื่องราวของเฟซบุ๊กก็ถูกกล่าวถึงอย่างมากในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะการประกาศผลการสำรวจนานาพฤติกรรมของชาวเฟซบุ๊กที่ตกหล่นไป ล่าสุดพิวรีเซิร์ช (Pew Research Internet Project) พบว่าผู้ชายมีจำนวนการอัปเดทสถานะต่อเดือนเพียง 6 ครั้งเท่านั้น น้อยกว่าผู้หญิงซึ่งอัปเดทสถานะเฉลี่ย 11 ครั้ง แต่ผู้ชายจะลงมือส่งลิงก์ขอเป็นเพื่อนมากกว่า ซึ่งผู้หญิงก็จะได้รับคำขอเป็นเพื่อนมากกว่าชายแบบสมเหตุสมผลกัน

8. ห้ามเถียงซีอีโอ : หากเฟซบุ๊กกลายเป็นบริษัทมหาชน แต่มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์กจะยังเป็นซีอีโอที่ไม่มีใครเถียงได้ เพราะหลังการขาย IPO ซัคเกอร์เบิร์กจะยังคงถือหุ้น 28% หรือราว 1 ใน 3 ของบริษัท แต่จะมีสิทธิ์ออกเสียงหรือลงคะแนนกับกรรมการบริหารเฟซบุ๊กมากถึง 57% เท่ากับเจ้าพ่อเฟซบุ๊กซึ่งเป็นชาวอเมริกันที่ร่ำรวยที่สุดจะเป็นศูนย์กลางอำนาจในการบริหารเฟซบุ๊กต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง จุดนี้มีการประเมินว่า ซัคเกอร์เบิร์กจะมีอำนาจในการบริหารเฟซบุ๊กมากกว่าเจ้าพ่อบิล เกตส์ (Bill Gates) ซึ่งเคยมีสัดส่วนออกเสียงในวันที่ไมโครซอฟท์เป็นบริษัทมหาชนเพียง 49% (ปี 1986) แถมยังมากกว่าผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิลที่มีสัดส่วนออกเสียงในกูเกิลคนละ 16% เท่านั้น (ปี 2004)

9. เฟซบุ๊กคือมรดก : เอกสารมีการระบุถึงกรณีที่ Mark Zuckerberg เสียชีวิต โดยอำนาจการบริหารทุกอย่างจะถูกส่งต่อไปยังบุคคลหรือนิติบุคคลที่ Mark Zuckerberg ระบุให้เป็นทายาททางกฏหมายต่อไป แบบนี้ไม่เรียกว่ามรดกก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรแล้ว

10. หุ้นอื่นราคาพุ่งกระฉูด : โดยเฉพาะ Zynga บริษัทผู้ผลิตเกมให้เฟซบุ๊กนั้นมูลค่าหุ้นพุ่งกระฉูด 17% เป็นประวัติการณ์ เพราะเฟซบุ๊กเปิดเผยว่า Zynga สามารถสร้างรายได้ให้เฟซบุ๊กเป็นสัดส่วน 12% ของรายได้รวม โดยเป็นรายได้จากการขายสินค้า บริการ และโฆษณาในเกม (in-game purchases and advertising) ถือเป็นตัวเลขที่น่าประหลาดใจสำหรับการดำเนินงานของบริษัทเดียว ไม่เพียง Zynga แต่บริษัทมหาชนเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายสังคมรายอื่นก็ล้วนได้รับแรงดันจากการเปิดเผยข้อมูลของเฟซบุ๊กด้วย ทั้ง Groupon ที่หุ้นพุ่ง 7.4% หรือ LinkedIn ที่เพิ่มขึ้น 6.4% รวมถึง Renren เครือข่ายสังคมสัญชาติจีนที่หุ้นพุ่ง 8.2% เช่นกัน
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น