5 นวัตกรรมในอีก 5 ปี เปลี่ยนแปลงเมืองทั่วโลก

5 นวัตกรรมในอีก 5 ปี เปลี่ยนแปลงเมืองทั่วโลก
5 นวัตกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงเมืองทั่วโลกใน 5 ปีข้างหน้า จากการคาดการณ์ของไอบีเอ็มถึงแนวโน้มนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่จะมีผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนในเมืองต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก
เทคโนโลยีภูมิคุ้มกัน
เมืองต่างๆ แข็งแรงยิ่งขึ้น

ในอนาคตอันใกล้ เทคโนโลยีจะมีบทบาทให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดโรคระบาดขึ้นเมื่อใด ที่ใด อย่างไร และมีพื้นที่ใดบ้างที่จะได้รับผลกระทบหลังจากเกิดโรคระบาดนั้นๆ และนักวิทยาศาสตร์จะสามารถพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือโรงพยาบาล สถานศึกษา และหน่วยงานต่างๆ สามารถปรับปรุงการตรวจสอบ ติดตาม หรือเพิ่มมาตรการในการเตรียมพร้อมรับมือ และป้องกันโรคติดเชื้อ

ยิ่งไปกว่านั้นจะได้เห็น 'อินเทอร์เน็ตเพื่อสุขภาพ' เกิดขึ้น ซึ่งระบบดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้ข้อมูลทางการแพทย์ที่อยู่ในเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ นำไปใช้งานร่วมกันอย่างปลอดภัย เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาด ทำให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงยิ่งขึ้น

อาคาร 'อัจฉริยะ'
ตอบสนองเหมือนสิ่งมีชีวิต

ด้วยแนวโน้มที่ผู้คนจะเข้าไปอาศัยและทำงานตามอาคารต่างๆ ในเมืองใหญ่มากขึ้น เทคโนโลยีและระบบอัจฉริยะทำให้ระบบต่างๆ ในอาคารสมัยใหม่ 'ฉลาดขึ้น' โดยเทคโนโลยีจะถูกพัฒนาให้ทำหน้าที่จัดการดูแลอาคารสถานที่ต่างๆ ให้ทำงานได้เหมือนสิ่งมีชีวิตที่สามารถรับรู้และตอบสนองมนุษย์ได้อย่างฉับไว เช่น มีอุปกรณ์ตรวจจับหรือเซ็นเซอร์หลายพันตัวที่ติดตั้งตามจุดต่างๆ เพื่อตรวจสอบสิ่งแวดล้อมภายในอาคาร ไม่ว่าจะเป็นความเคลื่อนไหวและอุณหภูมิ ไปจนถึงความชื้น การเข้าใช้พื้นที่ แสงสว่าง เป็นต้น

นอกจากนี้ ระบบปรับอากาศ ประปา ท่อระบายน้ำ ไฟฟ้า ฯลฯ จะถูกบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ ระบบอัจฉริยะต่างๆ จะมีบทบาทมากขึ้นในหลายๆ ด้าน เช่น ช่วยเพิ่มความปลอดภัย ช่วยอาคารประหยัดการใช้ทรัพยากร หรือช่วยลดปัญหาโลกร้อน หรือในกรณีที่อุปกรณ์บางชิ้นชำรุดเสียหาย ระบบอัจฉริยะนี้จะช่วยจัดการซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ ก่อนที่อุปกรณ์นั้นจะหยุดทำงาน

รถยนต์-รถประจำทาง
ไม่ใช้น้ำมันและก๊าซ

รถยนต์และรถประจำทางจะไม่ต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิล เช่น น้ำมันและก๊าซ อีกต่อไป ในอนาคต รถยนต์จะใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ชนิดใหม่ซึ่งรองรับการใช้งานได้นานหลายวันหรือหลายเดือนก่อนที่จะมีการชาร์จไฟอีกครั้ง นอกจากนี้ โครงข่ายระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ตามเมืองใหญ่หลายแห่งจะเปิดโอกาสให้รถยนต์สามารถชาร์จไฟในที่สาธารณะได้ อีกทั้งช่วยให้บุคคลทั่วไปสามารถใช้พลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Renewable Energy)

ระบบอัจฉริยะ
บริหารจัดการน้ำ

ปัจจุบันเมืองต่างๆ ได้มีการติดตั้งระบบประปา 'อัจฉริยะ' ซึ่งทำหน้าที่ช่วยลดการสิ้นเปลืองน้ำได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้น ที่ผ่านมาในหลายๆ เมืองทั่วโลก ได้มีการใช้ระบบท่อระบายน้ำ 'อัจฉริยะ' ช่วยป้องกันการปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำ ช่วยกรองน้ำให้สะอาดจนสามารถดื่มได้ และช่วยลดพลังงานที่ใช้ในการขนส่งน้ำลงได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์

และในอนาคตอันใกล้จะมีความพยายามผนวกรวมเครื่องตรวจวัดแบบ 'อัจฉริยะ' หรือมิเตอร์แบบอินเตอร์แอกทีฟและเซ็นเซอร์เข้ากับระบบประปาและไฟฟ้า เพื่อวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับการใช้น้ำและไฟฟ้า ทำให้ผู้ใช้เองสามารถบริหารจัดการการใช้น้ำและไฟฟ้าได้ดียิ่งขึ้น

เมืองต่างๆ จะตอบสนอง
เรื่องฉุกเฉินอย่างทันท่วงที

เมืองต่างๆ จะมีความสามารถในการลดและป้องกันเหตุฉุกเฉิน เช่น อาชญากรรมและภัยพิบัติ ได้ดีกว่าในปัจจุบัน ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและระบบอัจฉริยะ ล่าสุด ไอบีเอ็มได้ร่วมกับหน่วยดับเพลิงแห่งนครนิวยอร์ก พัฒนาระบบที่ทันสมัย เพื่อช่วยเก็บรวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพในแบบเรียลไทม์ เพื่อป้องกันเหตุเพลิงไหม้ที่อาจเกิดขึ้น และช่วยคุ้มครองเจ้าหน้าที่ดับเพลิง

ที่มาโดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์/http://www.managerweekly.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น