ค่ายยักษ์เปิดสนามรบ ′สมาร์ทโฟน′ ปฏิวัติโลกสื่อสาร 2010

ค่ายยักษ์เปิดสนามรบ ′สมาร์ทโฟน′ ปฏิวัติโลกสื่อสาร 2010
Click World
′โมบาย เวิลด์ คองเกรส′ ณ กรุงบาร์เซโลนา ประเทศสเปน นับว่าเป็นงานแสดงนวัตกรรมครั้งใหญ่สุดของอุตสาหกรรมมือถือ ที่มีผู้จัดแสดงสินค้ากว่า 1,300 รายเข้าร่วม ไฮไลต์ของงานครั้งนี้พบว่าผู้ผลิตและผู้ให้บริการส่วนใหญ่โฟกัสไปที่ระบบปฏิบัติการแอปพลิเคชั่น มากกว่าฮาร์ดแวร์ เหมือนอดีตที่ผ่านมา ควบคู่ไปกับการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ที่เน้นการใช้งานท่องอินเทอร์เน็ต ดูวิดีโอ ฟังเพลง และการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นเพื่ออัพเดตเครือข่ายสังคม เป็นต้น
ขณะที่ บริษัทวิจัย Strategy Analytic รายงานว่า ยอดการขนส่งมือถือทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่องในทุกไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาส 3/2008 เมื่อทั่วโลกเจอวิกฤตการเงิน อย่างไรก็ตามยอดการขนส่งเริ่มกลับมาเติบโตอีกครั้งช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2009 เป็นสัญญาณบอกว่า ภาวะตกต่ำของเศรษฐกิจได้สิ้นสุดลงแล้ว

โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนที่มีการเติบโตขึ้น 30% เทียบกับตลาดรวมมือถือทั่วโลกที่มีการเติบโตเพียง 10% เท่านั้น สอดคล้องกับทิศทางของการ์ตเนอร์ที่คาดการณ์ว่าปี 2010 ตลาดรวมมือถือจะเติบโต 9% แต่สมาร์ทโฟนจะมีอัตราการเติบโตถึง 46%

พร้อมกันนี้ ITU (International Telecommunication Union) ระบุว่าผู้ใช้งานโมบายบรอดแบนด์ในปี 2010 จะมีจำนวนกว่า 1 พันล้านรายจากปี 2009 ที่มีผู้ใช้งานเพียง 600 ล้านราย

สำหรับงานครั้งนี้ค่ายซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่อย่าง ′ไมโครซอฟท์′ ได้เปิดตัวระบบปฏิบัติการวินโดวส์ โฟน ซีรีส์ 7 โดย ′สตีฟ บัลเมอร์′ หัวเรือใหญ่ของ ไมโครซอฟท์ เพื่อหวังเรียกส่วนแบ่งการตลาดสมาร์ทโฟนกลับคืน หลังจากการแข่งขันบนสังเวียนสมาร์ทโฟนหนักหน่วงมากขึ้น

วินโดวส์ โฟน 7 มีความแตกต่างจากระบบวินโดวส์โมบายเดิม ๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับผู้ใช้งาน โดยดึงจุดแข็งทุกอย่างของไมโครซอฟท์ ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมสร้างงานเอกสาร Office, บริการออนไลน์ Windows Live, เครื่องเล่นเพลง-มัลติมีเดีย Zune HD และเครื่องเกม Xbox ลงในแพลตฟอร์มให้มากกว่าเดิม

นอกจากนี้ระบบปฏิบัติการดังกล่าวสามารถใช้ได้ทั้งแพลตฟอร์มที่เป็นมือถือ แท็บเลต อุปกรณ์เนวิเกเตอร์ และแก็ดเจตอื่น ๆ โดยมือถือเครื่องแรกที่ใช้ระบบ ดังกล่าวคาดว่าจะเปิดตัวภายในเดือนหน้า และวางจำหน่ายในช่วงวันหยุดยาวสิ้นปีนี้

นักวิเคราะห์ต่างมองว่า เป้าหมายของไมโครซอฟท์ คือ การกำจัดจุดอ่อนของซอฟต์แวร์รุ่นเดิมเพื่อบุกตลาดมือถือ คอนซูเมอร์ได้ดียิ่งขึ้น หลังจากต้องเผชิญคู่แข่งสำคัญอย่างกูเกิล รวมไปถึงแอปเปิลและแบล็คเบอร์รี่ ซึ่งสะท้อนจากรายงานของการ์ตเนอร์ระบุว่า ระบบปฏิบัติการ ค่ายไมโครซอฟท์ในไตรมาส 3/2009 มีส่วนแบ่งการตลาดเหลือเพียง 7.9% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2008 อยู่ที่ 11.1%

ขณะที่ ′โนเกีย′ หลังเป็นพันธมิตรกับ ′อินเทล′ เมื่อปีที่ผ่านมา ล่าสุดได้เปิดตัวระบบปฏิบัติการที่พัฒนาร่วมกัน ภายใต้ชื่อ ′MeeGo′ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างระบบปฏิบัติการ ′Maemo′ บนระบบลีนุกซ์ของโนเกีย ซึ่งอยู่บนมือถือรุ่น N900 กับแพลตฟอร์ม ′Moblin′ ของอินเทล

โดย MeeGo จะสามารถรองรับการใช้งานบนสมาร์ทโฟน เน็ตบุ๊ก และแท็บเลตได้ โดยคาดว่าจะสามารถเปิดตัวสินค้าได้ภายในไตรมาส 2 นี้

ด้าน ′ซัมซุง′ ใช้เวทีงานโมบาย เวิลด์ คองเกรส เปิดตัวระบบปฏิบัติการซัมซุงบาด้า (Bada) อย่างเป็นทางการ เน้นการทำงานมัลติทาสกิ้ง และเป็นแพลตฟอร์มระบบเปิดเพื่อรับแอปพลิเคชั่น พร้อมกันนั้นยังเปิดตัวซัมซุงแอปพลิเคชั่นสโตร์ เพื่อเป็นคลังสะสมแอปพลิเคชั่น ซึ่งมีแผนที่จะเปิดตัวใน 50 ประเทศภายในปีนี้

โดยสมาร์ทโฟนเครื่องแรกที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการ บาด้ามีชื่อว่า ′ซัมซุงเวฟ′ (Samsung Wave) หน้าจอทัชสกรีน แบบ Super AM-OLED และ WVGA ขนาด 3.3 นิ้ว กล้อง 5 ล้านพิเซล รองรับวิดีโอความละเอียดสูง โดยซัมซุงมีแผนที่จะเปิดตัวสมาร์ทโฟนเวฟอีก 15 รุ่นภายในปีนี้ และซัมซุงเวฟ เป็น 1 ใน 5 ซีรีส์ของสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบบาด้าในปีนี้

′เจ.เค. ชิน′ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจมือถือของซัมซุง กล่าวว่า ตอนนี้เป็นยุคของสมาร์ทโฟน และซัมซุงเคยให้สัญญาว่า จะผลิตสมาร์ทโฟนที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยซัมซุงตั้งเป้าขายสมาร์ทโฟน 18 ล้านเครื่องภายในสิ้นปีนี้ โตเป็น 3 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ซัมซุงยังเตรียมส่งสมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยด์และวินโดวส์ โฟนเข้าสู่ตลาดด้วย

ขณะที่ ′โซนี่ อีริคสัน′ ก็ไม่ตกขบวนสมาร์ทโฟนเช่นกัน ได้เปิดตัวสมาร์ทโฟน แอนดรอยด์ X10 mini และ X10 Pro หลังจากเปิดตัว Xperia X10 ปีที่ผ่านมา

ช่วงเวลาเดียวกัน ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือรายใหญ่ของโลก จำนวน 24 ราย ได้จับมือกันภายใต้ชื่อ ′The Wholesale Application Community′ (WAC) เพื่อนำเสนอแพลตฟอร์มมาตรฐานแบบเปิดเพียง 1 เดียวที่สามารถจัดส่งแอปพลิเคชั่นให้กับผู้ใช้งานมือถือได้ทั้งหมด และเป็น ช่องทางช่วยให้นักพัฒนาสร้างและจำหน่ายแอปพลิเคชั่นง่ายขึ้น จากเดิมที่โอเปอเรเตอร์แต่ละรายต่างแยกกันทำงาน ทำให้นักพัฒนาต้องพัฒนาแอปพลิเคชั่น เวอร์ชั่นต่าง ๆ กัน โดยความร่วมมือดังกล่าวจะใช้เวลาในการพัฒนาภายใน 12 เดือนต่อจากนี้

โอเปอเรเตอร์ที่ร่วมมือกันครั้งนี้ อาทิ โวดาโฟน, ทีโมบาย, โอทู, ไชน่าโมบาย, สปรินซ์, เอทีแอนด์ที, ไชน่า ยูนิคอม, บาร์ติ แอร์เทล ซึ่งมีผู้ใช้งานเครือข่ายรวมกว่า 3 พันล้านรายทั่วโลก รวมถึงยังได้รับการสนับสนุนจากผู้ผลิตฮาร์ดแวร์มือถือ เช่นแอลจี, โซนี่อีริคสัน และซัมซุงด้วย

หลายคนมองว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เพื่อต่อกรกับเจ้าตลาดแอปพลิเคชั่นอย่าง แอปเปิล รวมไปถึงแบล็คเบอร์รี่ กูเกิล โนเกีย และซิมเบี้ยนที่ต่างพัฒนาแอปพลิเคชั่นสโตร์ของตัวเอง เพราะปัจจุบันตลาดแอปพลิเคชั่นเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ที่กำลังฉายแววสดใสให้กับผู้ประกอบการมือถือ โดยการ์ตเนอร์คาดว่า ยอดการดาวน์โหลดปีนี้จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 4.5 พันล้านครั้ง จาก 2.5 พันล้านในปี 2009
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

ฟรีบริการเก็บสถิติเว็บไซด์ FlashSanook แฟลชเกมสนุกของคนออนไลน์