เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร(@PouYingluck) ถูกมือมืด“แฮก”หรือ“เจาะเข้าโปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่างผิดกฎหมาย” และโพสต์ข้อความดิสเครดิตรัฐบาล แม้ตอนนี้ทางผู้ที่เกี่ยวข้องจะออกมาแถลงข่าวว่าทราบเบาะแส แต่ก็ยังจับมือใครดมไม่ได้ เนื่องจากเป็นแอคเคาท์ที่มีทีมงานหลายคนสามารถเข้าไปโพสต์ข้อมูลได้
การแฮกทวิตเตอร์ของผู้มีชื่อเสียงไม่ใช่เรื่องใหม่ แม้แต่ทวิตเตอร์ของบารัค โอบามา (@barackobama)ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาก็เคยถูกเจาะมาแล้ว และเมื่อเดือนก่อนทวิตเตอร์ของสำนักข่าว NBC (@NBCNews)ของอเมริกาก็เพิ่งถูกแฮกโดยแฮกเกอร์นาม The Script Kiddies ที่โพสต์ข้อความเบรกกิ้งนิวส์สร้างความตื่นตระหนกว่า กราวด์ซีโร่(จุดที่ตึกแฝดเวิลด์เทรดถล่ม)ถูกพุ่งชนโดยเที่ยวบิน 5736 และคาดว่าเกิดจากการจี้เครื่องบิน โดยกรณีนี้เอฟบีไอถึงกับต้องเข้ามาสืบสวนสอบสวน
สาเหตุที่การแฮกโดยมีเป้าหมายอยู่ที่ผู้มีชื่อเสียงและสื่อแพร่ระบาดไปทั่วโลก เพราะโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่างทวิตเตอร์และเฟซบุ๊คเข้ามามีบทบาทในชีวิตเรามากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะทวิตเตอร์ที่ในปีนี้มีผู้ใช้พุ่งสูงถึง 200 ล้านคนทั่วโลก เพราะเป็นช่องทางการส่งผ่านข่าวสารจากอีกฟากโลกหนึ่งไปอีกฟากโลกหนึ่งได้ในเวลาไม่กี่วินาที ผ่านการ “รีทวีต” ซึ่งเป็นเหมือนดาบสองคม เพราะหากข้อความนั้นไม่ถูกต้องก็เป็นการสร้างความวุ่นวายให้ทั้งโลกภายในชั่วพริบตา
ที่สำคัญวิธีการแฮกทวิตเตอร์ก็ไม่ใช่เรื่องยาก โดยสามารถแฮกได้หลายวิธี เช่น การแฮกโดยสุ่มพาสเวิร์ด การแฮกโดยใช้อีเมลปลอม การส่งโทรจันมาในอีเมลเพื่อล้วงข้อมูลในคอมพิวเตอร์ รวมถึงความประมาทของผู้ใช้ที่ล็อกอินไว้ในอุปกรณ์ต่างๆ หรือให้พาสเวิร์ดกับหลายคนอย่างกรณีนายกฯหรือดาราสาวชมพู่-อารยาที่มีปัญหากับเพื่อนร่วมวงการเพราะมีผู้โพสต์ข้อความกระทบคู่กรณีโดยใช้แอคเคาท์ของเธอ
ส่วนวิธีป้องกันทวิตเตอร์ให้ปลอดภัย ทีมงานทวิตเตอร์แนะนำการป้องกันแอคเคาท์ง่ายๆ คือ ตั้งทวิตเตอร์ให้เป็นส่วนตัว โดยการล็อกอิน จากนั้นไปที่ Setting ซึ่งอยู่ขวาบนของหน้าจอ คลิกที่ช่อง Protect my Tweets แล้วกดเซฟ การป้องกันนี้จะทำให้ผู้ติดตาม(Follwing)เท่านั้นที่จะเห็นข้อความที่คุณทวิต ดังนั้นคนที่ไม่ได้ติดตามคุณจะไม่เห็นข้อความและรีทวีตข้อความไม่ได้ ผู้ที่ต้องการติดตามคุณ(Follow)ต้องส่งคำร้องให้คุณอนุญาตก่อนจึงจะติดตามได้ และจะไม่แสดงผลแอคเคาท์ของคุณในการค้นหา
แต่หากเป็นบุคคลสาธารณะหรือผู้ใช้ที่ต้องการแบ่งปันข้อมูลทำให้ต้องเปิดแอคเคาท์เป็นสาธารณะย่อมเสี่ยงในการถูกแฮก แต่ก็มีวิธีป้องกันความเสี่ยงนั้นได้ โดยการตั้งพาสเวิร์ดที่ยากๆ โดยพาสเวิร์ดที่ดีควรมีทั้งตัวเลข สัญลักษณ์ และอักษรภาษาอังกฤษทั้งตัวพิมพ์เล็กและตัวพิมพ์ใหญ่รวมกัน ควรมีความยาวตั้งแต่ 12-14 ตัวอักษรและเปลี่ยนพาสเวิร์ดบ่อยๆ ส่วนพาสเวิร์ดที่นิยมใช้อันดับ 1 คือ “123456 “ส่วน “password”,”qwerty”และบรรดาตัวเลขต่างๆ ทั้ง 2222,1111,77777 รวมถึงวันเกิด ชื่อ และชื่อสัตว์เลี้ยงของผู้ใช้ ก็เป็นที่นิยมไม่แพ้กัน หากแอคเคาท์ของคุณใช้พาสเวิร์ดพวกนี้ก็ควรเปลี่ยนโดยด่วน
อีกวิธีการป้องกันคือ อย่ากดให้คอมพิวเตอร์จำพาสเวิร์ด โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์สาธารณะ อย่ากดเปิดอีเมลต้องสงสัยเพราะอาจมีไวรัสแฝงมา อย่าตั้งพาสเวิร์ดเดียวกันหมดสำหรับเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรือโปรแกรมอื่นๆ ในโซเชียลมีเดีย เพราะหากถูกแฮกไปหนึ่งโปรแกรม โปรแกรมที่เหลือก็ยากที่จะรอด ที่สำคัญต้องจำกัดวงผู้ที่จะล็อกอินได้ หากมีปัญหาจะได้ทราบว่าเกิดจากใคร โดยวิธีการป้องกันนี้สามารถใช้ได้กับโปรแกรมในโซเชียลมีเดียทั้งหมด
และการแก้ปัญหาแบบวัวหายแล้วล้อมคอก แต่ไม่ทำให้ผู้ใช้ช้ำใจมากนักหากถูกแฮกคือ การแบ็คอัพข้อมูลที่ทวิตไป โดยโปรแกรมต่างๆ เช่นTwistory,BackupmyTweets,TweeTakeและTweetBackup หากถูกแฮกไปจริงๆ จะได้มีข้อมูลเหลืออยู่
สุดท้ายขึ้นอยู่กับผู้ใช้โซเชียลมีเดียทั้งหมด ที่ต้อง“คิดก่อนเผยแพร่” เพราะข่าวสารในโซเชียลมีเดียกระจายออกไปรวดเร็วยิ่งกว่าสื่อหลักหลายเท่า แต่เรื่องความถูกต้องยังเป็นที่น่าสงสัย เช่น ข่าวเขื่อนแตกที่มีคนทวิตไม่เว้นแต่ละวัน ดังนั้นหากเห็นข้อความที่ผิดปกติก็อย่าเพิ่งรีทวีตหรือส่งต่อ เพราะหนึ่งคลิกของคุณอาจทำให้สังคมวุ่นวายได้
ที่มา ทีมเดลินิวส์ ออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น