แข่งสมาร์ทโฟน แข่งสร้างแอปสโตร์


แข่งสมาร์ทโฟน แข่งสร้างแอปสโตร์
วันนี้เมื่อทุกคนแข่งกันสร้างตลาดสมาร์ทโฟน สิ่งที่สาวกสมาร์ทโฟนต้องการที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ 'ร้านแอปสโตร์' ที่จะมีแอปพลิเคชั่นคอนเทนต์ต่างๆ ให้พวกเขาได้ดาวน์โหลดมาใช้งาน และนี่เป็นอีกปฐมบทหนึ่งที่ทุกคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับสมาร์ทโฟนจะต้องแข่งกันสร้าง 'แอปสโตร์' ด้วย
แอปเปิลคือผู้สร้างตำนานให้กับ 'แอปสโตร์' ของตนเอง โดยแอปพลิเคชั่นที่รองรับการใช้งานบนไอโฟน ณ วันนี้ถือเป็นตลาดหลัก ที่สามารถครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 70% ติดเป็นยอดดาวน์โหลดรวมกว่า 3,000 ล้านครั้ง จากจำนวนแอปพลิเคชั่นกว่า 140,000 แอป ซึ่งประเภทที่ได้รับความนิยมสูงสุดจะเป็นแอปพลิเคชั่นด้านเกมและความบันเทิง โดยมีการคาดการณ์ว่าแอปที่จะมาแรงในปีนี้จะเป็นกลุ่มไลฟ์สไตล์และท่องเที่ยว
ปัจจุบันนี้เราจึงเห็นการเล็งขยายร้านแอปสโตร์ของแต่ละค่ายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นแอนดรอยด์มาร์เกตของค่ายกูเกิล โอวี่สโตร์ของโนเกีย มาร์เกตเพลสของไมโครซอฟท์ ทั้งหมดเพื่อให้เกิดเป็นแหล่งรวมแอปที่สนองความต้องการของผู้ใช้สมาร์ทโฟนให้ได้มากที่สุด

อย่างผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทรูฯ หรือเอไอเอส ต่างก็ให้ความสำคัญที่จะเร่งผลักดันแอปสโตร์ของตนเองเพื่อรองรับกลุ่มผู้ใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนในระบบของตนเองให้ได้มากที่สุด โดยมีทั้งที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและแบบให้ใช้งานฟรี

'ทรูประสบความสำเร็จในการพัฒนาแอปพลิเคชั่นสำหรับไอโฟน ได้รับความนิยมติดอันดับท็อป 25 ของแอปสโตร์' พิชิต ธันโยดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านสารสนเทศ คอนเวอร์เจนซ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวและว่า
ทรูได้นำความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาต่อยอดไปสู่การพัฒนาแอปพลิเคชั่นบนระบบปฏิบัติการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแบล็กเบอร์รี่ แอนดรอยด์ วินโดวส์โมบาย และซิมเบียน โดยในปี 2553 นี้ ทรูมุ่งเน้นการพัฒนาแอปพลิเคชั่นไลฟ์สไตล์ เพื่อตอบโจทย์ตามกระแสความต้องการของผู้ใช้งานใน TRUE App Store

ด้านเอไอเอสมี AIS App Store เน้นการดึงแอปพลิเคชั่นที่มีอยู่ทั่วโลกและเป็นที่นิยมมารวมไว้บนสโตร์แห่งนี้ เพื่อให้ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนได้เลือก สร้างสีสัน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานสมาร์ทโฟนกับแอปพลิเคชั่นที่มีมากกว่า 10,000 แอป

AIS App Store ถือเป็นศูนย์รวมความหลากหลายของแอปพลิเคชั่นอัปเดตที่ได้รับการรับรองแล้วว่าปลอดภัยและไม่สร้างปัญหาให้กับเครื่อง เพราะผ่านการ Certify และ Customize มาแล้วว่าเหมาะสมกับสมาร์ทโฟนแต่ละรุ่น

นอกจากนี้ล่าสุดโอเปอเรเตอร์ 24 รายทั่วโลกได้รวมตัวกันในนาม Wholesale Applications Community (WAC) มีแกนนำคือ เอทีแอนด์ที โวดาโฟน และไชน่าโมบาย เพื่อสร้างร้านแอปสโตร์ที่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือไม่ว่าจะแบรนด์ใดก็สามารถใช้งานได้ โดยโครงการนี้จะสร้างระบบเศรษฐกิจเปิดระบบใหม่ที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์แอปพลิเคชั่นเพื่อใช้งานบนอุปกรณ์ต่างชนิด ต่างระบบปฏิบัติการ และต่างผู้ให้บริการได้ ซึ่งจะทำให้เกิดผลดีในแง่ของการเร่งให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมแอปพลิเคชั่นที่สามารถใช้งานข้ามอุปกรณ์หรือข้ามโอเปอเรเตอร์ได้

ที่มา .. ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์

ไม่มีความคิดเห็น:

ฟรีบริการเก็บสถิติเว็บไซด์ FlashSanook แฟลชเกมสนุกของคนออนไลน์