'บิล เกตส์'ควงโตชิบา ปั้นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์
สื่อปลาดิบตีข่าวผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ "บิล เกตส์" จับมือกับ "โตชิบา" ของญี่ปุ่น ลุยพัฒนาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์สำหรับยุคหน้า ที่จะมีขนาดเล็กลงและสามารถทำงานต่อเนื่องมากกว่า 100 ปีโดยไม่ต้องเติมเชื้อเพลิงซ้ำอีก เชื่อจะมีประโยชน์มหาศาลเพราะจะเป็นแหล่งพลังงานสะอาดและต้นทุนต่ำกว่าเตาปัจจุบันที่ต้องเติมเชื้อเพลิงทุกๆปีเทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ยุคหน้าที่ถูกพูดถึงมีชื่อว่า Traveling-Wave Reactor (TWR) จุดเด่นของเทคโนโลยีนี้คือการใช้กากยูเรเนียมซึ่งเหลือใช้จากโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์รุ่นเก่ามาเป็นเชื้อเพลิง ทำให้พลังงานนิวเคลียร์ที่ได้มีต้นทุนการผลิตที่ถูกลง ปลอดภัยมากขึ้น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเทคโนโลยีปัจจุบัน แต่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เทียบเท่าเตาปฏิกรณ์ดั้งเดิม คือตั้งแต่ระดับ 100,000-1,000,000 กิโลวัตต์
หนังสือพิมพ์ธุรกิจนิกเกอิ (Nikkei) รายงานเรื่องนี้โดยไม่เปิดเผยชื่อแหล่งข่าว ระบุว่าเกตส์ตั้งใจใช้ความสามารถของเขาในการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี TWR โดยพร้อมจะเทเงินลงทุนมูลค่ามากกว่าหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯให้แก่โครงการนี้
ที่ผ่านมา เทคโนโลยี TWR ถูกพัฒนาโดยบริษัทเทอร์ราพาวเวอร์ (TerraPower) บริษัทเกิดใหม่ในรัฐวอชิงตันซึ่ง บิล เกตส์ เป็นเจ้าของเงินลงทุน และดำเนินงานภายใต้ความดูแลของอดีตผู้บริหารไมโครซอฟท์นามว่านาธาน ไมห์รโวล์ด (Nathan Myhrvold) แต่รายงานระบุว่าเทอร์ราพาวเวอร์ขาดความรู้ความชำนาญในการผลิตอุปกรณ์พลังงานนิวเคลียร์ จึงได้ตัดสินใจร่วมมือกับโตชิบา ซึ่งสามารถออกแบบเตาปฏิกรณ์ขนาดเล็กพิเศษที่ทำงานต่อเนื่องได้ 30 ปีสำเร็จแล้ว
โตชิบาเป็นบริษัทที่มีโรงงานนิวเคลียร์ของตัวเองในเมืองเวสติงเฮาส์(Westinghouse) โดยเทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ชิ้นโบแดงของโตชิบามีชื่อว่า Super-Safe, Small and Simple (4S) แต่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียงระดับ 10,000 กิโลวัตต์ เท่านั้น
รายงานของวอลล์สตรีทเจอร์นอลอ้างคำพูดของเคอิซูกิ โอโมริ ประชาสัมพันธ์โตชิบา ว่าโตชิบาและเทอร์ราพาวเวอร์มีการเจรจาเพื่อร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์จริง แต่การเจรจายังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอนในขณะนี้ โดยเฉพาะมูลค่าการลงทุน ขณะที่ ลอร์รา เฮอร์แมนน์ (Laura Hermann) ประชาสัมพันธ์เทอร์ราพาวเวอร์ ระบุเพียงว่าบริษัทเปิดกว้างเจรจากับกลุ่มผู้พัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ แต่ปฏิเสธไม่ให้ความเห็นว่าได้เจรจากับโตชิบาจริงหรือไม่
ด้านรายงานของรอยเตอร์สชี้ว่า โตชิบาแสดงความมั่นใจว่า 80% ของเทคโนโลยีที่ใช้ใน 4S นั้นสามารถประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยี TWR ได้
บิล เกตส์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า เตาปฏิกรณ์เทคโนโลยี TWR นี้สามารถทำงานในชั้นใต้ดินลึกโดยที่ไม่ต้องมีพนักงานดูแล แต่ยังต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาอีกนาน และยังไม่ผ่านการตรวจสอบใดๆ จากคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ U.S. Nuclear Regulatory Commission จุดนี้นิกเกอิเชื่อว่า พัฒนาการของ TWR อาจต้องกินระยะเวลานานถึง 10 ปี ซึ่งหากการพัฒนาเป็นไปด้วยดี โตชิบาก็จะเริ่มต้นผลิตเตาปฏิกรณ์ในจำนวนมาก
เทอร์ราพาวเวอร์ไม่ใช่รายเดียวที่มุ่งมั่นพัฒนาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ยุคหน้า ยังมีบริษัทอย่าง General Atomics ที่พัฒนาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กที่ใช้กากยูเรเนียมเป็นเชื้อเพลิงเช่นกัน
พลังงานนิวเคลียร์นั้นเป็นเป้าหมายใหม่ของ"บิล เกตส์"ซึ่งมีดีกรีเป็นเจ้าพ่อวงการซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์มาก่อน หลายสำนักพิมพ์วิเคราะห์เป้าหมายนี้เกิดขึ้นเพราะเกตส์มีความสนใจในการพัฒนาระบบพลังงานใหม่เพื่อประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งที่ผ่านมา เกตส์ประกาศวิสัยทัศน์ต่อสาธารณชนบ่อยครั้งว่า การค้นหาเทคโนโลยีด้านพลังงานใหม่นั้นเป็นสิ่งจำเป็นมากต่อการลดปัญหาโลกร้อนที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่
เกตส์เคยประกาศว่า วิธีการที่จะแก้ไขวิกฤติโลกร้อนได้ก็คือการมีแหล่งพลังงานใหม่ที่สะอาดและราคาถูก เพื่อให้สามารถลดการปล่อยคาร์บอน และราคาค่าไฟฟ้าลงได้ จุดนี้เกตส์มองว่า พลังงานนิวเคลียร์คือเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกนอกเหนือจากพลังงานน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะสามารถเป็นแหล่งพลังงานที่มีราคาต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าต่ำเพียงพอสำหรับประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา และจะสามารถแก้วิกฤติโลกร้อนได้อย่างเป็นรูปธรรม
ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประกาศนโยบายรับประกันเงินกู้ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
Honda Eco Car เตรียมเปิดตัวต้นปีหน้า R&D คืบกว่า 90%
เตรียมขึ้นไลน์ทดลองผลิตแล้ว
-
Honda Eco Car เตรียมเปิดตัวต้นปีหน้า R&D คืบกว่า 90%
เตรียมขึ้นไลน์ทดลองผลิตแล้ว Honda อดรนทนไม่ไหวเมื่อเห็นยอดจองถล่มทลายของ
Nissan March
รถยนต์นั่งประหย...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น