แฉด้านมืด โซเชียลเน็ตเวิร์ก *โซเชียล เน็ตเวิร์กไทยอันตรายแบบไม่รู้ตัว
* เหรียญด้านมืดกำลังบ่มเพาะรอวันโจมตี
* ผู้ใช้เครือข่ายสังคมยังหลงระเริงเล่นเพลินไม่ระวัง
* อาชญากรไซเบอร์กลายเป็นฆาตกรมาแล้วในต่างประเทศ
กระแสโซเชียล เน็ตเวิร์ก หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เฟื่องฟูอย่างมากในประเทศไทยขณะนี้ ยังคงมีแนวโน้มความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉพาะคนไทยที่แห่ใช้งานเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ก็มีทะลุ 4 ล้านรายไปแล้ว และหากนับเฉพาะเฟซบุ๊กอย่างเดียวก็มีมากกว่า 3 ล้านราย
อย่างไรก็ตาม การใช้งานโซเชียล เน็ตเวิร์กในเมืองไทยขณะนี้เมื่อเทียบกับต่างประเทศ อย่างในอเมริกาหรือยุโรปแล้ว โซเชียล เน็ตเวิร์กไทยเสมือนแค่ยุคเริ่มต้นเท่านั้น ต่างกับในประเทศที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายมานานแล้ว การใช้งานโซเชียล เน็ตเวิร์กจะอยู่ในยุคที่พูดถึงเรื่องซีเคียวริตี้เป็นหลัก
แน่นอนว่าวันนี้ผู้ใช้ในประเทศไทยเห็นถึงประโยชน์การใช้งานโซเชียล เน็ตเวิร์ก แต่กลับมีคนที่รู้จักภัยที่อาจจะมาพร้อมกับการใช้งานโซเชียล เน็ตเวิร์กไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
'การใช้งานโซเชียล เน็ตเวิร์กที่แพร่หลาย พบว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่ที่เป็นนักเรียน นักศึกษามีเพียง 4 ใน 100 คนที่รู้ด้านลบของการใช้โซเชียล เน็ตเวิร์ก และรู้ว่าต้องใช้งานอย่างระมัดระวัง'
เป็นคำกล่าวของ ปริญญา หอมเอนก นักวิชาการและกรรมการและเลขานุการ สมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ
ปริญญา มองว่า กระแสโซเชียล เน็ตเวิร์กที่มาแรงมากๆ เป็นยุคที่ผู้ใช้เป็นคนสร้างคอนเทนต์เอง ต่างจากอดีตที่เว็บมาสเตอร์เป็นผู้ดูแล แต่การเล่นโซเชียล เน็ตเวิร์กกำลังกลายเป็นดาบสองคม ถ้าใช้ไม่ระวังก็จะเป็นภัยกับตัวเอง รวมทั้งองค์กร โดยเฉพาะการทวิตหรือโพสต์ข้อมูลที่อาจเป็นช่องโหว่ให้อาชญากรไซเบอร์ใช้เป็นข้อมูลในการคุกคามผู้ใช้ได้ง่ายๆ
ในมุมมองของ ไชยกร อภิวัฒโนกุล Chief Security Officer PTT ICT Solutions Company Limited ได้ยกตัวอย่างภัยร้ายด้านมืดของโซเชียล เน็ตเวิร์กในต่างประเทศถึงขั้นเกิดการฆาตกรรมกันมาแล้ว โดยสิ่งที่ผู้ใช้โซเชียล เน็ตเวิร์กให้ข้อมูลไว้บนเว็บต่างๆ เหล่านั้น หรือการโพสต์ภาพต่างๆ โดยไม่ระมัดระวัง ทำให้อาชญากรไซเบอร์สามารถจิ๊กซอว์และสืบหาข้อมูลนำไปสู่การติดตามตัวคนหนึ่งคนใดจากโลกไซเบอร์ไปสู่การติดตามและทำร้ายในโลกจริงได้
'วันนี้บรรดานักเรียน นักศึกษาไม่ระวังภาพที่โพสต์ให้เพื่อนๆ ดู ซึ่งบางภาพอาจล่อแหลม จนทำให้ผู้ไม่หวังดีติดตามตัวผู้นั้นเพื่อทำสิ่งไม่ดีต่อไปได้'
ยิ่งทุกวันนี้อาชญากรในโลกไซเบอร์มีความเก่งมากขึ้น การที่จะเข้าไปลวงข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ของเป้าหมายในเครือข่ายสังคมก็ทำได้ง่าย เนื่องจากผู้ใช้โซเชียล เน็ตเวิร์กไม่ระวังตนเองและป้องกันการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างดีพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของรหัสส่วนตัวที่กลายเป็นเรื่องง่ายที่ผู้ไม่หวังดีสามารถสืบเสาะได้ง่าย
'ขนาดประธานาธิบดีโอบามาของสหรัฐฯ ยังโดนแฮกเฟซบุ๊กมาแล้ว'
ด้าน ปฐม อินทโรดม ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) มองถึงประเด็นนี้ว่าขณะนี้การใช้งานโซเชียล เน็ตเวิร์กได้เริ่มย้อนกลับมาทำร้ายผู้ใช้กันแล้ว จึงควรให้ความสำคัญถึงการป้องกันการใช้งานเครือข่ายสังคมให้มากขึ้น เพราะทุกคนรู้แต่ประโยชน์ที่จะได้รับจากโซเชียล เน็ตเวิร์ก
ส่วน เมธา สุวรรณสาร อุปนายกสมาคมความมั่นคงความปลอดภัยระบบสารสนเทศ กล่าวว่าสิ่งจำเป็นที่สุดของการใช้สื่อบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผู้ใช้จำเป็นต้องตระหนักถึงภัยที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งการใช้ข้อมูล ซึ่งควรต้องรู้ถึงจุดอ่อนจุดแข็งของเครื่องมือที่ใช้งาน โดยเฉพาะการใช้โซเชียล เน็ตเวิร์กในองค์กรมีโอกาสที่ข้อมูลสำคัญจะหลุดออกไปได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐบาลในต่างประเทศ อย่างสหรัฐฯ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยสูงมาก โดยกำหนดเป็นนโยบายที่มีผลต่อการบริหารจัดการประเทศ รวมไปถึงการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลในระดับองค์กร เพราะเชื่อว่าข้อมูลสำคัญที่หลุดออกไปนอกองค์กรอาจสร้างความเสียหายใหญ่หลวงได้
ปริญญา แนะว่า รัฐบาลไทยควรต้องเร่งจัดตั้งหน่วยงาน 'ความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์แห่งชาติ หรือเนชั่นนัล ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ ให้เป็นหน่วยงานที่จะเข้ามาดูแลความปลอดภัยและการใช้งานบนโลกไซเบอร์ทั้งหมด เนื่องจากประเทศอื่นๆ มีการจัดตั้งหน่วยงานเช่นนี้แล้วทั้งนั้น ซึ่งถ้าในประเทศไทยมีหน่วยงานด้านนี้โดยเฉพาะจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจวางนโยบายป้องกันต่างๆ ของประเทศชาติต่อไป
ทั้งนี้ รัฐบาลจะสามารถเร่งผลักดันการออกประกาศกฎกระทรวงเพื่อบังคับใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ในเร็วๆ นี้ โดยเฉพาะมาตรา 35 ซึ่งเน้นการทำธุรกรรมทางออนไลน์ของภาครัฐให้อยู่ภายใต้มาตรฐานหรือทิศทางเดียวกัน และมาตรา 25 บังคับให้หน่วยงานรัฐและเอกชนต้องทำมาตรฐาน ISO27001 หรือมาตรฐาน ISO27001:2005 ที่เป็นมาตรฐานเกี่ยวกับระบบบริหารความมั่นคงปลอดภัยของสารสนเทศ
'สถานการณ์ความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ของไทยอยู่ในขั้นเริ่มต้น ไม่มีมาตรการหรือข้อบังคับทางกฎหมายที่เข้มงวด จึงเป็นช่องโหว่ให้เกิดการโจมตีและก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน จึงควรมีการเอาจริงเอาจังนับจากนี้เป็นต้นไป' ปริญญา กล่าว
มองด้านบวก
โซเชียลเน็ตเวิร์ก
เหรียญมีสองด้าน โซเชียล เน็ตเวิร์กก็เช่นกัน ย่อมมีทั้งด้านบวกและด้านลบ แต่วันนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกแล้วว่านับวันกระแสของโซเชียล เน็ตเวิร์ก ไม่ว่าจะเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ ไฮไฟว์ และอีกหลายร้อยหลายพันเว็บไซต์ ได้พุ่งทะยานแบบฉุดรั้งอย่างไรก็ไม่อยู่แล้ว เนื่องจากประโยชน์ของมันนั่นเอง
ด้านบวกของโซเชียล เน็ตเวิร์กจึงมีอย่างมากมาย และกลายเป็นมีเดียที่กลบทุกมีเดียแบบเดิมๆ อย่างสิ้นเชิง เพราะวันนี้ 'โซเชียล มีเดีย' ต้องขยับและปรับตัวตามกันแทบไม่ทัน
ยิ่งวันนี้ โซเชียล มีเดียได้กลายเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลทั้งต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนทั่วไป สังคม และนักการตลาด โซเชียล มีเดีย ได้กลายเป็นช่องทางการทำตลาดของบรรดาแบรนด์ดังๆ ระดับโลกมากยิ่งขึ้น ภาพที่เกิดขึ้นคือนักการตลาดกระโจนเข้ามาสู่โซเชียล มีเดียกันมากขึ้น โดยแทบไม่ต้องลงทุนเป็นตัวเงิน สิ่งที่นักการตลาด หรือเจ้าของแบรนด์จะลงทุนอย่างเดียว คือ การจ่ายเพื่อคอนเทนต์ หมายความว่า จะต้องมีการสร้างคอนเทนต์ให้คนเข้ามาติดตาม และเข้ามามีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด
คอนเทนต์ ณ วันนี้ คือ เทรนด์ของการทำการตลาดผ่านโซเชียล มีเดีย ตามกระแสของโลก ที่แต่ละแบรนด์สินค้า และบริการจะแข่งขันกันอย่างสูงเพื่อทำคอนเทนต์ให้ดึงดูดใจ เพื่อเป็นช่องทางที่จะเข้าถึงผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ ปัจจัย 4 อย่าง ที่จะทำให้เกิดความสำเร็จในการทำการตลาดผ่านทางโซเชียล มีเดีย ได้แก่ การมีคอนเทนต์ที่ดี (Content) การโต้ตอบกับกลุ่มลูกค้าได้ตลอดเวลา (Conversation) การสร้างให้เกิดคอมมูนิตี้ (Community) และความร่วมมือกันในคอมมูนิตี้ เพื่อนำไปสู่การสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ให้กับแบรนด์สินค้าต่างๆ (collaboration & co-creation)
สิ่งหนึ่งที่ 'โซเชียล มีเดีย' กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลบนอินเทอร์เน็ต ปัจจัยหนุนสำคัญคือ บรรดาผู้รับข่าวสารทั่วโลกมักใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตมากกว่าสื่อเดิมๆ แบบไม่เห็นฝุ่น และพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เขาใช้บนอินเทอร์เน็ตก็จะเป็นพื้นที่ของเว็บประเภทโซเชียล มีเดีย
เห็นได้จากข้อมูลปัจจุบัน วัยรุ่นอเมริกันมักใช้เวลาไปกับสื่ออินเทอร์เน็ตมากกว่าสื่อทีวี นั่นทำให้หลายแบรนด์สินค้า และบริการระดับโลกต่างกระโจนเข้าหาสื่อออนไลน์กันเป็นว่าเล่น ไม่เว้นแม้แต่สื่อดั้งเดิม ทั้งทีวี วิทยุ โทรทัศน์ แม้แต่หนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารต่างๆ ก็เกิดการหลอมรวมของสื่อเพื่อต้องการให้ข่าวสารที่ส่งไปสู่ผู้รับสารสามารถมีช่องทางกระจายข่าวให้ได้มากที่สุด
ด้านบวกของโซเชียล เน็ตเวิร์กจึงยิ่งฉายแสงอันเจิดจ้าและยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงง่ายๆ จึงต้องอยู่ที่ผู้ใช้งานว่าจะนำมันมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากกว่าโทษได้อย่างไร
ที่มาโดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์
Honda Eco Car เตรียมเปิดตัวต้นปีหน้า R&D คืบกว่า 90%
เตรียมขึ้นไลน์ทดลองผลิตแล้ว
-
Honda Eco Car เตรียมเปิดตัวต้นปีหน้า R&D คืบกว่า 90%
เตรียมขึ้นไลน์ทดลองผลิตแล้ว Honda อดรนทนไม่ไหวเมื่อเห็นยอดจองถล่มทลายของ
Nissan March
รถยนต์นั่งประหย...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น