ที่ทำให้ชื่อเสียงของ BB โดดเด่นอยู่แถวหน้า รวมทั้งกลยุทธ์ของเหล่าโอเปอเรเตอร์มือถือที่ใช้ BBM เป็นจุดขาย แพร่กระจายลงตลาดแมส หรือกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป หลังจาก BB โด่งดังในเรื่องการใช้งานสื่อสารเมลในองค์กร
เมื่อ BBM ถูกท้าทายด้วยแอปฯ ระบบแชต ที่ถึงแม้อาจไม่ใช่แฟนแต่ก็ทำแทนกันได้ มนต์ขลังของ BB อาจเริ่มเสื่อมลงแล้ว สัญญาญร้ายของ BB เริ่มส่อแวว เมื่อรายงานผลการสำรวจของบริษัทวิจัยตลาดหลายสำนักต่างรายงานไปในทิศทางเดียวกันว่า แอนดรอยด์กับไอโฟนจะเป็น 2 สมาร์ทโฟนที่มาแรง ขณะที่ BB อาการน่าเป็นห่วงมียอดขายเติบโตลดลง
แถมยังมีข่าวออกมาจากบริษัท รีเสิร์ชอินโมชัน หรือที่เรียกกันติดปากว่า 'ริม' เตรียมที่จะเลิกจ้างพนักงานทั่วโลก 2,000 ตำแหน่ง หรือประมาณ 10.5% ของพนักงานทั้งหมด และยังจะมีการปรับโครงสร้างบริษัทอีกด้วย ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อแผนการเปิดสำนักงานสาขาในประเทศไทยที่วางแผนไว้ว่าจะเปิดดำเนินการภายในปีนี้
อะไรที่เป็นเหตุให้ BB ไม่ได้กลายเป็นสมาร์ทโฟนที่วัยรุ่นยุคใหม่ต้องแบมือขอเงินพ่อแม่มาซื้อหาเพื่อให้ได้เป็นเจ้าของอีกต่อไป
ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากตัวเลือกในตลาดสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ที่วางขายในปัจจุบัน และอนาคตต่างมีประสิทธิภาพที่เหนือกว่า มีฟีเจอร์ที่ล้ำกว่า ขณะที่ BB กลับมีปัญหาในการพัฒนาสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาด ทำให้เกิดช่องว่างในการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่นานเกินไป ความต้องการของ BB จึงไม่คึกคักเหมือนเดิม
ช่วงที่ BB ฮิตติดลมบน มีการวางจำหน่าย BB หลากรุ่นและหลายราคา เรียกได้ว่า มีตั้งแต่ราคาไม่ถึงหมื่นไปจนถึง 2หมื่นต้นๆ แต่ก็ใช้เครื่องเหล่านั้นในการทำตลาดตลอดช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา โดยไม่มีการนำเข้าเครื่องรุ่นใหม่ เนื่องจากอยู่ในช่วงพัฒนาระบบปฏิบัติการใหม่ 'BB OS 7' ที่จะมาดึงกระแสแมสให้หันกลับไปมอง BB อีกครั้ง
จุดเด่นสำคัญของ BB อยู่ตรงที่บริการ 'พุชเมล' ที่ออกแบบมาสำหรับให้นักธุรกิจ และมีบริการแชตในกลุ่มสังคมที่ใช้งาน BB ของตนเองไม่เกี่ยวกับใคร โดยไม่ต้องทำงาน เล่นและใช้งานบนคอมพิวเตอร์เหมือนในอดีต ซึ่งเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้เกิดขึ้นในโลกของสมาร์ทโฟน
และด้วยรูปลักษณ์ที่แปลกตาไม่เหมือนใคร ที่ช่วยดึงดูดความน่าใช้ของผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีฟีเจอร์ที่แตกต่าง และโดดเด่นกว่าสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆ ส่งผลให้ BB ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดสมาร์ทโฟนในขณะนั้น
***Push Mail ใครๆ ก็ทำได้
ริม เริ่มต้นธุรกิจจากการเป็นผู้ผลิตเพจเจอร์ที่คิดค้นวิธีพิมพ์รับ-ส่งข้อความหากัน และความสามารถดังกล่าวถูกพัฒนาให้โดดเด่นมากยิ่งขึ้นผ่านคีย์บอร์ดบนโทรศัพท์มือถือ ที่มีความคล้ายคลึงกับคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ ที่เรียกกันแบบติดปากว่า QWERTY โดยเริ่มต้นไลน์การผลิตในปี 2542 ในลักษณะเป็นเพจเจอร์สองทาง และต่อมาในปี 2545 ถึงมีการผลิตในรูปแบบของสมาร์ทโฟนเหมือนในปัจจุบัน
จากการนำเทคโนโลยี QWERTY มาใช้บนสมาร์ทโฟนภายใต้แบรนด์ BB ส่งผลให้ BB กลายเป็นสมาร์ทโฟนที่สามารถใช้การส่งเมลได้ง่ายกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ที่คุ้ยเคยกับการพิมพ์ SMS โดยใช้แป้นพิมพ์ตัวหนังสือบนมือถือ เหมือนได้พบกับอะไรที่คุ้นเคยกันมานาน
ที่เหนือไปกว่านั้น คือ การนำเทคโนโลยี 'พุช เมล' (Push Mail) ที่สามารถรับส่งข้อความอีเมลได้แบบเรียลไทม์ สนองความต้องการในตลาดองค์กร ที่สามารถสื่อสารกับพนักงานทั้งหมดได้โดยการส่งอีเมลเพียงครั้งเดียว โดยลงทุนติดตั้งเซิร์ฟเวอร์ไว้ที่บริษัท พร้อมกับการเข้ารหัสข้อมูลเพื่อรักษาความปลอดภัย ทำให้อีเมลของ BB มีความปลอดภัยสูงมาก ดังนั้นปัญหาเรื่องการถูกแฮกในระบบจึงทำได้ยาก
แต่ความยิ่งใหญ่ของ BB อาจจะดูสั้นยิ่งนัก เมื่อระบบปฏิบัติการ 'แอนดรอยด์' ที่พัฒนาโดย 'กูเกิล' ยักษ์ใหญ่วงการเสิร์ชเอนจิ้น ได้ขึ้นมาท้าชิงพุช เมล โดยมีการพัฒนาแอปฯ ด้านอีเมลอย่าง จีเมล (Gmail) ที่ถอดแบบความสามารถทั้งหมดที่มีในเว็บเมลลงสู่สมาร์ทโฟนสายพันธุ์แอนดรอยด์ทุกรุ่น ส่งผลให้มีฟีเจอร์ในการใช้งานที่หลากหลายไม่แพ้กับระบบเมลของ BB ด้วยอินเตอร์เฟสเรียบง่าย แต่น่าใช้งาน
หรือแม้แต่ใน 'ไอโอเอส' ของแอปเปิลที่มีการนำมาใช้ในไอโฟน ก็มีการพัฒนาระบบรับ-ส่ง อีเมลที่สามารถเลือกระยะเวลาในการซิงค์ข้อมูลได้เอง ทำให้ผู้ใช้ที่ต้องการเข้าถึงอีเมลแบบทันที ก็สามารถเลือกความถี่ในการซิงค์ข้อมูลให้มากขึ้น แต่ถ้าไม่ต้องการเข้าถึงอีเมลตลอดเวลา ก็สามารถเลือกซิงค์เฉพาะเวลาที่ต้องการได้
บวกกับความเร็วในการรับส่งเมลผ่านพุช เมลที่เคยเป็นจุดเด่นและแตกต่างระหว่าง BB กับ สมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆ ก่อนหน้านี้แทบไม่มีความหมาย เมื่อเทียบกับความสามารถของสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลา ดังนั้นจุดแข็งด้านอีเมลของ BB อาจจะใกล้เข้าสู่จุดอิ่มตัวในเร็ววันนี้ เพราะตลาดสมาร์ทโฟนเกิดใหม่กำลังถูกยึดครองโดยไอโฟน และแอนดรอยด์
ในเมื่อพื้นที่การตลาดของ BB กำลังถูกบีบให้เหลือในวงจำกัด การที่จะชูจุดขายด้วยระบบพุชเมลแบบเดิม ที่จะได้ส่งเสียงเตือนทุกครั้งที่มีข้อความเข้ามาทุกที่ทุกเวลาตราบเท่าที่ยังเปิดเครื่องอยู่ ซึ่งอาจจะเกิดอารมณ์รำคาญระบบพุช เมลของ BB ได้ในบางเวลาสำหรับผู้ใช้งานทั่วๆ ไป จนอาจเลือกที่จะหันไปใช้ระบบปฏิบัติการอื่นๆ ในตลาดแทน แต่สำหรับนักธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับเรื่องอีเมลมากๆ เรื่องนี้เป็นที่ยอมรับได้
***BBM อ่อนแรง ?
อีกสิ่งที่ทำให้ BB ได้รับความนิยม และตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานทั่วโลกนั่นคือ ระบบแชต ที่เรียกว่า BBM ที่มีจุดเด่นอยู่ที่การแชทได้รวดเร็วทันใจ ผ่าน PIN ที่เป็นเสมือนชื่อที่ใช้ในการติดต่อ ที่สำคัญผู้ใช้สามารถแชตกับเพื่อนในรายชื่อได้ แม้จะปิดเครื่องอยู่ก็ตาม และทันทีที่เพื่อนเปิดเครื่องก็จะได้รับข้อความเตือนเหมือนมีอีเมลถูกส่งเข้ามา ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะผู้ใช้ BB เท่านั้น
เรื่องนี้ถือว่า 'โดน' ใจขาแชตบนคอมพิวเตอร์ไม่ว่าจะเป็น MSN, ICQ ฯลฯ ที่ต้องการปลดพันธนาการตัวเองจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้สามารถแชตที่ไหนก็ได้บนสมาร์ทโฟน บวกกับกระแสฟีเวอร์ ดาราดังในฮอลลีวูด ศิลปินนักร้อง แม้กระทั่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 'โอบาม่า' ต่างก็มีพินของ BB ทำให้ BBM ดังเป็นพลุเพียงชั่วข้ามคืน จนเกิดกระแสใครไม่มี BB ถือว่า 'เอาท์'
แต่หากมองในมุมกลับ จากจุดแข็ง BBM ผ่าน PIN ที่ผูกกับตัวเครื่อง ทำให้มันกลายเป็นจุดบอดในการใช้งานติดต่อสื่อสารกับผู้ใช้งานระบบปฏิบัติการอื่นในตลาดที่มีคนใช้งานมากกว่า จนสูญเสียส่วนแบ่งให้กับโปรแกรมแแชตข้ามแพลตฟอร์ม ที่มาแรงในตลาดอย่าง WhatsApp, Paringo หรือ MSN ที่มีรูปแบบและลักษณะการใช้งานไม่แตกต่างจากระบบแชตของ BB เท่าไรนัก
อย่างกรณี WhatsApp ได้กลายเป็นแอปฯ ที่ถูกจับตามองทันทีที่มีการเปิดตัวครั้งแรกในระบบปฏิบัติการไอโอเอส เมื่อผู้พัฒนาอย่าง WhatsApp Inc. สร้างความแตกต่างและฉีกกฎการแชตแบบที่คุ้นเคยบน BBM ด้วยการใช้งานที่สามารถคุยกันได้ทั้งในไอโอเอส แอนดรอยด์ BB และซิมเบียน
สิ่งที่ WhatsApp โชว์เหนือกว่า BBM คือ ไม่จำเป็นต้องใช้ PIN ที่เป็นลักษณะเฉพาะของ BB แต่ Whatsapp กลับเลือกใช้สิ่งที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนทุกคนต้องมี นั่นคือหมายเลขโทรศัพท์ แสดงให้เห็นว่าขอเพียงแค่ผู้ใช้งานมีหมายเลขโทรศัพท์ของบุคคลที่ต้องการจะติดต่อ ก็จะสามารถใช้บริการนี้ได้ทันที โดยไม่ต้องไปเสียเวลาเพิ่มผู้ติดต่อโดยการขอ PIN ให้ยุ่งยาก และมีการใช้งานอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ รวมถึงในไทยที่เริ่มมีกระแสการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ราวกับได้บริการโดนใจในหมู่พ้องเพื่อนขาแชตทั้งหลาย
แน่นอนว่า รูปแบบของบริการในแอปฯ เหล่านี้ อาจจะไม่สามารถฆ่าหรือแสดงความเหนือกว่า BB ได้อย่างชัดเจน แต่ภาพที่ออกมา คือ บริการที่ BB ทำได้ มันกลับกลายเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ทำได้ และยิ่งเป็นการเป็นการเปิดช่องว่างให้แก่ผู้ใช้ว่าถ้าหากต้องการจะแชต จำเป็นด้วยหรือที่จะต้องเลือกซื้อ BB ในเมื่อฟีเจอร์อื่นๆ ของ BB ไม่ได้เหนือกว่า
แถมยังกลายเป็นจุดอ่อนที่ BB ยังไม่มีการแก้ไขให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกล้องดิจิตอลที่มีคุณภาพไม่ต่างจากมือถือราคาถูกหลักพันกว่าบาท ปัญหาเรื่องของระบบปฏิบัติการที่ชอบค้าง วิธีแก้คือต้องถอดฝาหลังพร้อมกับดึงแบตเตอรี่ออกจากเครื่องถึงจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้เอง แต่ไม่สมกับราคาที่จ่ายไปหลักหมื่น
***แอปฯ จำกัด
แอปพลิเคชัน เป็นสิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบริการอย่าง BBM จากรูปแบบการป้อนข้อมูลที่หลากหลายทั้งระบบคีย์บอร์ด หรือ ทัชสกรีนในบางรุ่น ทำให้นักพัฒนามองไม่เห็นถึงจุดคุ้มในการพัฒนาแอปฯ ให้รองรับการป้อนข้อมูลทุกรูปแบบ ซึ่งจากข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้ปริมาณแอปฯ ที่มีใน BB จึงต่ำกว่ารายอื่นในตลาด
ขณะที่แนวโน้มสมาร์ทโฟนทั้งไอโฟนและแอนดรอยด์มีความชัดเจนแล้วว่า จะไปทางเทคโนโลยีทัชสกรีน ซึ่งน่าจะเป็นเทคโนโลยีที่อาจจะชี้เป็นชี้ตาย BBM เลยทีเดียว หากตัดใจทิ้งแป้นพิมพ์ QWERTY ที่เป็นจุดเด่นของแบล็กเบอรี่ไป
สิ่งที่ต้องรอดูกันต่อไปคือ ระบบปฏิบัติการ BB OS 7 ซึ่งมีเค้าว่าจะเปลี่ยนไปใช้ระบบปฏิติบัติการที่พัฒนาขึ้นมาจากลินุกซ์ ในชื่อ QNX เช่นเดียวกับใน เพลย์บุ๊กแท็บเล็ตจากค่ายเดียวกัน ที่ได้รับคำชมในการใช้งานด้านมัลติมีเดีย ความบันเทิงเหนือกว่าแท็บเล็ตรุ่นอื่นๆในตลาด และเมื่อเป็นเช่นนั้น หนทางของนักพัฒนาในการผลิตแอปฯ ให้รองรับการใช้งานที่หลากหลายจะเพิ่มขึ้นตามความสามารถของระบบปฏิบัติการในที่สุด
ชะตากรรมของ BB ที่ครั้งหนึ่งสุกใสด้วยบริการที่แตกต่าง กำลังถูกท้าทายจากสมาร์ทโฟนต่างค่ายและต่างระบบปฏิบัติการ เสน่ห์ของ BB เริ่มเสื่อมมนต์ขลังแล้ว หากยังไม่เร่งปรับตัว BBM อาจเป็นแค่สิ่งที่ขาแชต จดจำว่าเป็นบริการที่เคยมีในตลาดเท่านั้น
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น