ซื้อ New iPad ที่ไหนดี

ซื้อ New iPad ที่ไหนดี
เวลคัมทูไทยแลนด์ สำหรับ New iPad หรือบางคนจะเรียกว่า iPad3 ก็ได้ ที่เริ่มเปิดขายจริงในวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา จากรูปแบบการขายที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดคำถามง่ายๆ แต่ตอบลำบากว่าจะเลือกซื้อที่ไหน กับ ใครดี?

เพราะมีทั้งตัวแทนจำหน่ายของแอปเปิลในไทยโดยตรงอย่างร้าน 'ไอสตูดิโอ' หรือค่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออย่างเอไอเอส ดีแทค หรือ ทรูมูฟ หรือจะซื้อผ่านร้านค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศเอง (เกรย์มาร์เก็ต) หรือจะซื้อผ่านแอปเปิลสโตร์

หากวิเคราะห์แต่ละช่องทางจะพบว่า ต่างก็มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของตนเอง เริ่มจาก

ช่องทางแรก ร้านค้าที่นำเข้าเอง ช่องทางนี้ถือว่านำสินค้าเข้ามาขายเร็วมาก คือ มีสินค้าวางขายในต่างประเทศเมื่อไหร่ แค่วันสองวันก็มีของขายในไทยแล้ว แต่ราคาก็จะผันแปรไปตามความต้องการของตลาด มีสินค้าบางรุ่นของแอปเปิลราคาเคยสูงกว่าต่างประเทศถึง 1-2 หมื่นบาท


แต่สำหรับ New iPad ราคาที่เปิดตัวในตลาดนี้ ดูไม่หวือหวานัก น่าจะเป็นผลจากความพร้อมของแอปเปิลที่วางกำลังผลิตไว้ได้ดี แต่จุดได้เปรียบจากการซื้อผ่านเกรย์มาร์เก็ตจะเหมาะกับผู้ที่ไม่ค่อยสันทัดเรื่องการลงแอปพลิเคชัน หรือต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายการดาวน์โหลดแอปฯ เพราะวันนี้แทบจะทุกร้านที่ขาย New iPad มีบริการโหลดแอปฯ ให้ฟรีหรือบางร้านก็จะคิดค่าบริการเป็นรายครั้งแต่สามารถโหลดได้ไม่อั้น

ช่องทางที่ 2 คือ ซื้อจากร้านไอสตูดิโอทั้งหลาย ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งจากแอปเปิลโดยตรง รวมถึงค่ายมือถือทั้งเอไอเอส ดีแทค หรือ ทรูมูฟ

จุดขายของไอสตูดิโอ จะเป็นเรื่องของการให้ความรู้ทั้งก่อนซื้อและบริการหลังการขายที่สามารถเข้าไปขอข้อมูลจากพนักงานที่ได้รับการอบรมสินค้าในค่ายของแอปเปิลมาเป็นอย่างดี ชนิดว่า ไม่ซื้อไม่เป็นไร ซักถามได้ทุกเรื่องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของแอปเปิล รวมไปถึงบรรยายกาศภายในร้านที่มีสินค้าหลากหลายวางให้เลือกชมและทดลองใช้งาน เมื่อตกลงใจซื้อก็จะมีพนักงานให้รายละเอียดเกี่ยวกับการใช้งาน และยังสามารถเปลี่ยนสินค้าได้หากไม่พอใจหรือพบสินค้ามีตำหนิ

ช่องทางที่ 3 ซื้อจากโอเปอเรเตอร์มือถือ นอกจากจะได้ความรู้เกี่ยวกับไอโฟน ไอแพดจากพนักงานขายที่ได้ผ่านการอบรมจากแอปเปิลเหมือนกับพนักงานไอสตูดิโอแล้ว ยังจะได้รับโปรโมชันพิเศษแพกเกจในการใช้งานดาต้าจากโอเปอรเตอร์โดยตรง สามารถเปิดใช้บริการได้ทันใจ ซึ่งถ้าซื้อที่ไอสตูดิโอก็มีแพกเกจให้เลือกใช้งานเช่นกันแต่จะไม่สามารถเปิดใช้บริการได้ทันที

ข้อดีที่เห็นชัดๆ จากการซื้อผ่านตัวแทนทั้ง 2 รูปแบบของแอปเปิล ก็คือ โปรโมชันผ่อนชำระ ที่แต่ละรายจะจัดสรรมากระตุ้นการตัดสินใจซื้อให้ง่ายขึ้น รวมไปถึงของแจกของแถมด้วย แต่จะไม่มีการตัดราคาขายหน้าร้าน เพราะแอปเปิลออกกฎเหล็กว่า ไม่ให้ทำโปรโมชันเกี่ยวกับราคาขายเครื่อง ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้นยกเว้นแต่แอปเปิลจะประกาศออกมา เหมือนอย่างกรณีที่แอปเปิล เอเซียแปซิฟิกประกาศลดราคา iPad 2 ลง 2,000 บาทหลังจากประกาศเปิดตัว New iPad

ช่องทางที่ 4 ซื้อผ่านเว็บไซต์แอปเปิลสโตร์ (store.apple.com/th) ซึ่งคนเริ่มนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ไม่ค่อยชอบไปต่อคิวซื้อหรือไม่ค่อยมีเวลาเดินชอปปิ้งที่ร้านจุดเด่นจึงอยู่ที่ความสะดวกเพราะสามารถรู้ระยะเวลาแน่นอนของการส่งสินค้า ว่ากี่วันจะได้แถมยังไม่ต้องเสียค่าขนส่ง หากมูลค่าสินค้าเกิน 2,000 บาทโดยราคาที่ปรากฎบนเว็บไซต์แอปเปิลสโตร์เท่ากับซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายในไทยของแอปเปิลทุกประการ แต่บริการพิเศษสำหรับผู้ที่สั่งซื้อ New iPad ผ่านแอปเปิลสโตร์ก็คือ สามารถสั่งให้สลักตัวอักษรด้วยเลเซอร์ได้ 2 บรรทัด และแน่นอนว่า ผู้ซื้อจะต้องมีบัตรเครดิตที่มีวงเงินเหลือเพียงพอกับราคาสินค้าที่สั่งซื้อด้วย

ทั้งนี้ แอดมินกลุ่มเฟสบุ๊ก Thai iPad Club (www.facebook.com/ipadclub) ให้ความเห็นว่า การซื้อผ่านเว็บไซต์แอปเปิลสโตร์นั้นเหมือนเราซื้อตรงจากแอปเปิล ทำให้ไม่ต้องไปต่อคิวให้หงุดหงิดเสียเวลาในช่วงที่มีโปรดักส์ใหม่ออกมา แถมการส่งของยังเป็น Free Shipping และมี DHL มาส่งให้ถึงบ้านฟรีๆ

ประเด็นการสั่งซื้อ ไอโฟน บนเว็บไซต์แอปเปิลสโตร์มีการพูดถึงกันมากบนโซเชียลเน็ตเวิร์กคนไทย หลังจากที่โอเปอเรเตอร์มือถือทั้ง 3 ค่าย ขายไอโฟนเหมือนกัน ซึ่งถือเป็นโมเดลการทำตลาดที่แตกต่างออกไปจากการขายสินค้าตัวอื่นๆ ของแอปเปิล โดยประเด็นที่ถกเถียงกันมากๆ มีอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.ราคาถ้าซื้อเครื่องเปล่าไอโฟน 4S บนแอปเปิลสโตร์ จะถูกกว่า เครื่องเปล่าที่โอเปอเรเตอร์ขาย 500-600 บาท ซึ่งแรงจูงใจดังกล่าวอาจจะไม่รุนแรงเท่าเรื่องที่ 2.การเคลมประกัน

โดยหลักทั่วไปของแอปเปิล จะรับประกันในรูปแบบประกันทั่วโลก คือ สามารถนำส่งเข้าศูนย์ซ่อมได้ทั่วโลกสำหรับสินค้าที่อยู่ในประกัน แต่สำหรับไอโฟนกลับไม่เป็นเช่นนั้น แอปเปิลจะให้ประกันเฉพาะในประเทศที่ซื้อเท่านั้น ซึ่งรวมถึงไทยด้วย แต่กรณีของไทยแรงยิ่งกว่านั้น หากมีปัญหาจากการใช้งาน อย่างกรณีจอเหลืองโอเปอเรเตอร์มือถือจะถามว่า ตัวเครื่องซื้อมาจากที่ไหน ก็จะให้ไปเข้าศูนย์ของค่ายนั้นแทน และกรณีจอเหลืองจะถูกระบุว่า ไม่อยู่ในประกัน ผู้ซื้อควรต้องตรวจสอบก่อนตอนซื้อ

แต่สำหรับNew iPad แล้ว เป็นประกันแบบทั่วโลก สามารถส่งเข้าที่ศูนย์บริการแอปเปิลแคร์ที่ไหนก็ได้ทั่วโลก

'การเคลมประกันของแอปเปิล สโตร์แตกต่างจากไอสตูดิโอที่การส่งเครื่องเคลมต้องให้ไอสตูดิโอพิจารณาก่อน เมื่อได้รับการอนุมัติแล้วถึงส่งกลับไปที่ศูนย์ซ่อมตามที่แอปเปิลบอกไว้ ซึ่งใช้เวลานานกว่า และเงื่อนไขประกันต้องขึ้นอยู่กับไอสตูดิโอ' แอดมินกลุ่มเฟสบุ๊ก Thai iPad Club ระบุไว้

เจ้าของร้าน blink7 มาบุญครอง แสดงความคิดเห็นเรื่องการเคลมของแอปเปิลว่า 'ไม่แตกต่างกัน เหมือนกันหมด การเคลมต้องใช้เวลาเหมือนกัน เพียงแต่ว่าไอสตูดิโอจะเป็นเหมือนๆ พวกผม คือ ร้านค้าส่งต่อไปให้แมคเซ็นเตอร์ อีกทีแล้วให้แมคเซ็นเตอร์ส่งเรื่องให้แอปเปิลต่อ'

'ผมจะแนะนำให้ลูกค้าไปแมคเซ็นเตอร์โดยตรงเลยจะได้เร็วที่สุดประมาณ 3-4 วันก็ได้แล้ว ส่วนใหญ่พ่อค้าแม่ค้ามักจะใช้คำผิดคือ เป็นเครื่องศูนย์ไอสตูดิโอ ซึ่งมันคือความเชื่อผิดๆ และไอสตูดิโอบางสาขาไม่ยอมเคลมให้ลูกค้าก็มี เรียกเก็บเงินกับลูกค้าก็มี ถ้าหากลูกค้าไม่ได้ซื้อกับสาขาหรือเป็นเครื่องนอก'

อยากให้ลูกค้าทำความเข้าใจใหม่ว่าไอสตูดิโอเป็นเหมือนแค่ตัวแทนจำหน่ายไม่ใช่ศูนย์แอปเปิลแบบเมืองนอก และการเคลมเครื่องในเมืองไทยจะต้องส่งให้กับแมคเซ็นเตอร์ และการซื้อกับโอเปอเรเตอร์มือถือเฉพาะไอแพดก็ต้องเข้าเคลมกับแมคเซ็นเตอร์เช่นกัน ค่ายมือถือไม่มีเครื่องให้เคลมเหมือนไอโฟน

ทางด้านนายปพนธ์ รัตนชัยกานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และรองหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการพาณิชย์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น เชื่อว่าผู้บริโภคชาวไทยจะเลือกซื้อสินค้ากับโอเปอเรเตอร์อย่างทรูต่อไป เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังต้องการตรวจสอบและถือจับสินค้าก่อนชำระเงิน ขณะเดียวกันทรูพบว่าผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าพร้อมแพกเกจบริการข้อมูลหรือดาต้าแพลนมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากปริมาณการซื้อของลูกค้ากลุ่มนี้ที่มีจำนวนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

'สินค้าราคาเกินหมื่นอย่างไอแพด คนไทยยังอยากสัมผัสและตรวจสอบเครื่องเอง อีกอย่างที่เราเห็นชัดคือคนไทยต้องการดาต้าแพลน ที่ผ่านมา สัดส่วนการซื้อเครื่องอย่างเดียวคือ 50% แต่ตอนนี้สัดส่วนการซื้อเครื่องพร้อมดาต้าแพลนคือ 90% ซึ่งการซื้อในเว็บไซต์ไม่มีดาต้าแพลนขณะที่ราคาก็ไม่ต่างกัน'

ผู้บริหารทรูยืนยันว่าราคาและเงื่อนไขการรับประกันเครื่องของไอโฟนและไอแพด ของร้านตัวแทนจำหน่ายในไทยและจากเว็บไซต์แอปเปิลสโตร์นั้นไม่ต่างกัน ทุกอย่างอิงบนหลักการและมาตรฐานเดียวกันตามธรรมเนียมปฏิบัติขององค์กรระดับโลกอย่างแอปเปิล

'ถ้าไม่ใช่ข้อบกพร่องที่ระบุในเงื่อนไข การซื้อจากเว็บไซต์ของแอปเปิลก็เปลี่ยนสินค้าไม่ได้เช่นกัน ตรงนี้ต้องพูดให้ชัดเจนเพราะทุกทีมงานที่ตรวจสอบนั้นถูกฝึกอบรมบนมาตรฐานเดียวกัน เพียงแต่ทำบนช่องทางไหนเท่านั้นเอง'

ด้านนายฐิติพงศ์ เขียวไพศาล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส สายงานการตลาด เอไอเอส กล่าวว่า รูปแบบการรับประกันเครื่องของไอแพดนั้นต่างจากไอโฟน ลูกค้าที่ซื้อไอแพด จะใช้เงื่อนไขการรับประกันเดียวกันทั่วโลก คือต้องส่งเครื่องให้ศูนย์บริการของแอปเปิล แต่สำหรับไอโฟน ทางโอเปอเรเตอร์สามารถรับเคลมได้ซึ่งก็ให้บริการบนข้อกำหนดของแอปเปิลเช่นเดียวกัน โดยเอไอเอสมั่นใจว่าการเสริมบริการพิเศษอย่าง เอไอเอส บุ๊กสโตร์ และ เอไอเอส มิวสิค สโตร์ เข้าไปร่วมกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตใน New iPad จะทำให้ลูกค้าเลือกซื้อเครื่องจากเอไอเอส

นายปภาพรต ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายธุรกิจอุปกรณ์สื่อสารดีแทคกล่าวว่า เรื่องการรับประกัน iPad 2 และ New iPad ที่เพิ่งเริ่มวางจำหน่ายผ่านโอเปอเรเตอร์ และไอสตูดิโอ ในไทย จะเป็นมาตรฐานเดียวกันหมดคือเมื่อเครื่องมีปัญหา ลูกค้าจะต้องนำเครื่องเข้าไปที่ศูนย์บริการของแอปเปิลซึ่งมีอยู่ราว 15 แห่งในไทย

ขณะที่การซื้อ New iPad ผ่านเว็บไซต์แอปเปิลสโตร์ นอกจากการที่ลูกค้าได้รับการจัดส่งเครื่องถึงบ้านผ่านบริการ DHL แล้ว ในกรณีที่เครื่องมีปัญหา สามารถโทร.แจ้งทางร้านค้าออนไลน์ หลังจากนั้น DHL จะมารับเครื่องเพื่อนำไปซ่อม แตกต่างจากการซื้อผ่านร้านค้าปกติที่ลูกค้าต้องนำเครื่องไปซ่อมเอง

ทั้งนี้ ในอนาคตดีแทควางแผนที่จะเปิดบริการรับส่งเครื่องซ่อม ในการเป็นตัวกลางรับเครื่อง และส่งไปให้ยังศูนย์บริการแอปเปิล โดยทางดีแทคจะซัพพอร์ตค่าจัดส่งให้ลูกค้าดีแทคโดยเฉพาะ

สำหรับราคาจำหน่าย New iPad ของโอเปอเรเตอร์ รุ่น Wi-Fi + 4G (สีขาว/สีดำ) เริ่มต้นที่ 16 GB ราคา 20,500 บาท 32 GB ราคา 23,500 บาท และ 64 GB 26,500 บาท ซึ่งเป็นราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
ที่มา manager.co.th





ไม่มีความคิดเห็น:

ฟรีบริการเก็บสถิติเว็บไซด์ FlashSanook แฟลชเกมสนุกของคนออนไลน์