4 เกร็ดน่ารู้ในวันเกิดที่แท้จริงของกูเกิล

ใครที่เข้าสู่เว็บไซต์กูเกิล google.com ในวันที่ 27 กันยายนแล้วพบกับภาพเค้กฉลองวันครบรอบวันเกิดปีที่ 12 ของกูเกิล ขอให้รู้ว่านี่คือวิธีที่กูเกิลแสดงออกเพื่อแบ่งปันเค้กวันเกิดแก่ผู้ใช้กูเกิลหลายล้านคนทั่วโลก ต่อไปนี้คือ 3 เกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับวันเกิดกูเกิลที่คุณอาจยังไม่รู้

1. 27 ก.ย. คือวันคล้ายวันเกิดที่แท้จริงของกูเกิล

ต้องยอมรับว่าประวัติการก่อตั้งของกูเกิลสร้างความสับสนไม่น้อยว่าวันเกิดของกูเกิลคือวันใดกันแน่ บางคนบอกว่าควรจะเป็นวันที่ 7 ก.ย. เพราะวันนี้ในปี 1998 เป็นวันที่กูเกิลจดทะเบียนบริษัท บางคนบอกว่าอาจจะเป็นวันที่ 15 ก.ย. เนื่องจากเป็นวันที่ชื่อ google.com ถูกจดทะเบียน แต่ในที่สุด กูเกิลก็บอกให้โลกรู้ว่าวันเกิดอย่างเป็นทางการที่บริษัทเลือกคือวันที่ 27 ก.ย. เพราะกูเกิลได้เฉลิมฉลองวันคล้ายวันเกิดในวันนี้ติดต่อกันมาหลายปี แม้ว่าจะเคยเลือกฉลองในวันที่ 7 ก.ย. ในช่วง 2-3 ปีแรกก็ตาม

อย่างที่ทุกคนรู้กันดี กูเกิลก่อตั้งโดย แลร์รี เพจ และ เซอร์เกย์ บริน ขณะที่ทั้งคู่กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โรงจอดรถของเพื่อนในเมืองเมนโลพาร์กถูกนำมาดัดแปลงเป็นสำนักงานชั่วคราวของพนักงาน 4 คน (รวมบรินและเพจแล้ว) จากนั้นทั้งคู่ตัดสินใจพักการเรียนและเดินหน้าหาระดมทุนจากครอบครัว เพื่อนฝูง และนักลงทุนเป็นจำนวนเงินกว่า 1.1 ล้านเหรียญสหรัฐ บริหารบริษัทให้เติบใหญ่จนกระทั่งเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก เมื่อ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2004 เพิ่มมูลค่าของบริษัทเป็น 1.67 พันล้านเหรียญสหรัฐในเวลาเพียง 6 ปี

สำหรับชื่อ Google ยังไม่มีที่มาชัดเจน โดยในวิกิพีเดียระบุว่า อาจจะมาจากคำว่า "googol" ซึ่งหมายถึงจำนวนทางคณิตศาสตร์ที่หมายถึงเลข 1 แล้วตามด้วยเลข 0 อีกหนึ่งร้อยตัว หรือ 10100 เพื่อเป็นการแสดงถึงเป้าหมายของบริษัทที่จะจัดการกับข้อมูลจำนวนมหาศาล อีกกระแสหนึ่งบอกว่าชื่อ Google มาจากความผิดพลาดในการจดโดเมนเนมในช่วงก่อตั้ง

2. ภาพเค้กสุดคลาสสิกเป็นของศิลปินวัย 89 ปี

สัญลักษณ์ประจำเว็บไซต์หรือ Google Doogle ในวันที่ 27 กันยายน 2553 รูปเค้กคลาสสิคสไตล์ ‘Pop Art’ นั้นเป็นฝีมือของ Wayne Thiebaud คุณปู่ศิลปินวัย 89 ปีจากลอสแองเจลิส โดยกูเกิลได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ภาพจากสมาคม Visual Artists and Gallery Association (VAGA) แห่งนิวยอร์ก ให้สามารถใช้ภาพของคุณปู่ Wayne เป็นสัญลักษณ์หรือโลโก้กูเกิลในวันนี้ได้

ปู่ Wayne เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงมากในช่วงการแห่งการเคลื่อนไหวด้านศิลปะสไตล์ Pop Art ในสหรัฐฯ ภาพวาดสร้างชื่อของคุณปู่ได้แก่ภาพเค้ก ภาพของเล่น ภาพลิปสติก และอีกนานาสิ่งของที่แสดงให้เห็นถึงกลิ่นอายของวัฒนธรรม Pop Art ทำให้แม้สัญลํกษณ์ฉลองวันเกิดของกูเกิลในปีนี้จะไม่มีลูกเล่นอินเทอร์แอคทีฟอย่างปีก่อน แต่ก็ถือเป็นคุณค่าทางศิลปะที่หาชมได้ยาก

3. Doodle เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1998

ต้องยอมรับว่า Google Doodle คือสิ่งที่ทำให้ชาวออนไลน์รู้ทันทีว่าวันที่ 27 ก.ย. คือวันเกิดกูเกิล ดังนั้นประวัติการเกิดขึ้นของ Google Doodle ซึ่งเป็นวิธีการสื่อสารเรื่องวันสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพบนเว็บไซต์กูเกิลจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

ประวัติศาสตร์ของ Google Doodle เริ่มในปี 1998 ซึ่งเป็นปีที่ผู้ก่อตั้งกูเกิลอย่างแลร์รี่และเซอร์เกย์ทดลองเล่นกับดีไซน์สัญลักษณ์กูเกิลในช่วงทดสอบเว็บ เพราะแรงบัลดาลใจจากงาน Burning Man festival เทศกาลศิลปะแบบสุดขั้วที่มีผู้ร่วมงานจำนวนมาก ภาพถูกเผยแพร่ในวันที่ 30 กันยายน 1998 จากนั้น 1 ปี Google Doodle ตัวจริงได้ฤกษ์เผยแพร่ต่อสาธารณชนในวัน Bastille Day โดยเป็นการออกแบบของเว็บมาสเตอร์ Dennis Hwang งานนี้ส้มหล่นใส่ Hwang เพราะนับจากนั้นเขาได้รับตำแหน่งเป็นประธานฝ่ายออกแบบ Doodle มาตลอด

ถึงวันนี้ กูเกิลได้ออกแบบ Doodle มากกว่า 300 ชิ้น แน่นอนว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มต่อไปตามเทศกาลสำคัญ ซึ่งมีแต่คนกูเกิลที่จะรู้ว่า Doodle ชิ้นต่อไปจะปรากฏตัวบนเว็บไซต์กูเกิลในวันใด

4. ฉลองด้วยไอเดียและบุญ

2 ปีก่อนกูเกิลฉลองครบรอบ 10 ปีด้วยการตั้งโครงการ Project 10^100 (อ่านว่า "10 to the 100th” หรือ 10 ยกกำลัง 100) จุดประสงค์คือต้องการแสวงหา 5 ความคิดเยี่ยมเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ โดยให้ผู้ใช้กูเกิลทั่วโลกร่วมกันเสนอสุดยอดแนวคิดเพื่อปรับปรุงคุณภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ และกูเกิลพร้อมให้เงินงบประมาณกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อสานฝันสุดยอดไอเดีย 5 อันดับแรกให้เป็นความจริง ปีที่แล้วผ่านไปแบบไม่ได้ข้อสรุป มาปีนี้กูเกิลได้ฤกษ์ประกาศผล 5 สุดยอดไอเดียเปลี่ยนโลกจากทั้งหมด 150,000 ไอเดียอย่างเป็นทางการเสียที

รายแรกคือ สถาบัน Khan Academy ได้รับเงิน 2 ล้านเหรียญแก่โครงการบทเรียนออนไลน์ฟรี ประกอบด้วยวิดีโอ 1,800 ชิ้นซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และประวัติศาสตร์ รายที่ 2 คือ FIRST รับเงิน 3 ล้านเหรียญแก่โครงการจัดประกวดเพื่อเสริมสร้างความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม โดยจะดึงวัยรุ่นมาประดิษฐ์หุ่นยนต์ และดึงเด็กมาร่วมแข่งขันประกอบตัวต่อเลโก้

รายที่ 3 คือกลุ่ม Public.Resource.Org ที่ได้รับเงินสนับสนุนไป 2 ล้านเหรียญแก่แนวคิดสร้างความโปร่งใสให้กับรัฐบาล ด้วยการเปิดทางให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลเอกสารภาครัฐฯโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันมีค่าบริการอยู่ที่ 8 เซนต์ต่อเอกสาร 1 แผ่น

รายที่ 4 คือบริษัท Shweeb ซึ่งได้รับเงินไป 1 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อโครงการนวัตกรรมขับขี่สาธารณะ โดยได้พัฒนายานที่มีลักษณะคล้ายรถราง monorail ที่มีระบบจักรยานให้ผู้ขับขี่ปั่นอยู่ภายใน และรายที่ 5 คือสถาบัน African Institute for Mathematical Sciences รับงบประมาณไป 2 ล้านเหรียญเพื่อการให้การศึกษาแก่เยาวชนในแอฟริกา จุดประสงค์หลักคือ AIMS ต้องการผลักดันให้นักศึกษาที่มีผลการเรียนดีได้รับโอกาสศึกษาคณิตศาสตร์ขั้นสูงขึ้น

ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

ฟรีบริการเก็บสถิติเว็บไซด์ FlashSanook แฟลชเกมสนุกของคนออนไลน์