โน้ตบุ๊กแบรนด์ดังชิงเค้กเด็กมหา"ลัย เพิ่มสเป็ก-ราคา-เงื่อนไขพิเศษล่อใจ

โน้ตบุ๊กแบรนด์ดังชิงเค้กเด็กมหา"ลัย เพิ่มสเป็ก-ราคา-เงื่อนไขพิเศษล่อใจ
โอกาสทองบริษัทคอมพิวเตอร์สบช่อง มหา"ลัยแห่งัดโมเดลซื้อโน้ตบุ๊กแจกนักศึกษาใหม่ ยักษ์เล็กยักษ์ใหญ่โดดร่วมวง ตั้งทีมเฉพาะกิจเจาะตลาดสถาบันการศึกษา ชิงเค้กปีละ 3-4 หมื่นเครื่อง จุดกระแสการแข่งขันคึกคัก ชิงเสนอบริการเสริมทุกรูปแบบ ทั้งโปรแกรมเงินผ่อน ประกันเครื่องหาย "โตชิบา" เสริมทัพพาร์ตเนอร์เจาะตลาด ฟากขาใหญ่ "เอเซอร์" จัดเครื่องโมเดลพิเศษทำราคาป้อนโปรเจ็กต์การศึกษาโดยเฉพาะ นายถกล นิยมไทย ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจเทคโนโลยี บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เนื่องจากปัจจุบันมหาวิทยาลัยเอกชนส่วนใหญ่จะใช้โมเดลซื้อโน้ตบุ๊กเพื่อแจกให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ซึ่งส่วนใหญ่จะเหมารวมอยู่ในค่าเทอมเรียบร้อย บางแห่งจะซื้อแจกให้กับนักเรียนปี 1 ทั้งมหาวิทยาลัย ขณะที่บางแห่งจะซื้อสำหรับบางคณะที่จำเป็นต้องใช้งานเท่านั้น เช่น คณะวิทยา ศาสตร์ คณะคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ทำให้ขณะนี้เริ่มมีการเคลื่อนไหวของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการเชิญชวนบริษัทคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เข้าไปนำเสนอรายละเอียด

ช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. ซึ่งเป็นช่วงปิดเทอมของสถาบันการศึกษา หลายมหาวิทยาลัยใช้เป็นช่วงเวลาในการคัดเลือกและจัดซื้อโน้ตบุ๊กเพื่อแจกให้แก่นักศึกษา ซึ่งหลายแห่งกำลังอยู่ในช่วงวางสเป็ก และทดสอบสินค้าของแบรนด์ต่าง ๆ ก่อนที่จะพิจารณาด้านราคาแข่งขัน เพื่อดำเนินการจัดซื้อและส่งมอบในช่วงเปิดเทอมในเดือน มิ.ย.

แต่ละปีจะมีโน้ตบุ๊กประมาณ 3-4 หมื่นเครื่อง ที่มหาวิทยาลัยมีการซื้อเพื่อแจกให้กับนักเรียนทั้ง ป.ตรี และ ป.โท ซึ่งมหาวิทยาลัยระดับท็อปเทนของประเทศโดยเฉพาะเอกชนได้มีการจัดซื้อโน้ตบุ๊กแจกให้นักศึกษามา 2-3 ปีแล้ว และคาดว่าปีนี้จะมีการสั่งซื้อสินค้าโน้ตบุ๊กเพื่อแจกให้นักศึกษาเพิ่มขึ้นประมาณ 10-20%

สำหรับตลาดโปรเจ็กต์ภาคการศึกษามีประมาณ 10-15% ของตลาดคอร์ปอเรต ซึ่งมีส่วนแบ่งประมาณ 20-30% ของตลาดรวม ขณะที่ตลาดคอนซูเมอร์มีส่วนแบ่ง 70-80% โดยระดับราคาที่มหาวิทยาลัยซื้อจะอยู่ที่ประมาณ 2-2.5 หมื่นบาท

นายถกลกล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมาโตชิบาได้ตั้งทีมงานที่ดูแลโปรเจ็กต์มหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ และปีที่ผ่านมาก็ทำยอดขายได้เกือบ 6,000 เครื่อง ทำให้ปีนี้บริษัทมีการขยายพาร์ตเนอร์เพื่อที่จะทำตลาดมหาวิทยาลัยมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาคอนเทนต์ และแอปพลิเคชั่นเสริมเพื่อสามารถเสนอโซลูชั่นให้กับแต่ละมหาวิทยาลัยด้วย

การทำตลาดของโตชิบาจะเน้นเข้าถึงมหาวิทยาลัยที่เป็นแม่ข่ายและเป็นสถาบันต้นแบบการบริหารจัดการ อาทิ ม.ราชภัฏสวนดุสิต เพราะจะมีมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เข้าไปศึกษาดูวิธีการจัดการ ทำให้บริษัทมีโอกาสที่จะต่อยอดการขายในอนาคตได้

ด้านนายพงศ์ธวัช พิเชฐเลอมานวงศ์ ผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์และการตลาด กลุ่มธุรกิจเพอร์ซันแนล ซิสเต็มส์ บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปีนี้มีมหาวิทยาลัยรายใหม่ ๆ ที่ใช้โมเดลแจกโน้ตบุ๊กให้กับนักศึกษาเพิ่มมากขึ้น ขณะที่มหาวิทยาลัยเดิมก็ยังคงนโยบายแจกโน้ตบุ๊กแก่นักศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ค้าคอมพิวเตอร์ต่างเห็นโอกาสในการทำตลาดมากขึ้น รวมถึงเอชพีเช่นกัน ทำให้การแข่งขันในตลาดกลุ่มนี้มีมากขึ้น โดยปัจจุบันหลายสถาบันกำลังอยู่ในช่วงการแจ้งให้แต่ละแบรนด์เข้าไปเจรจา

สำหรับเอชพีมีทีมขายที่ดูแลตลาดการศึกษาอยู่แล้ว แต่ปีนี้จะเพิ่มการมอนิเตอร์มากขึ้น เพราะมีสถาบันการศึกษาราย ใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาด และเน้นรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับฐานลูกค้ารายเก่า พร้อมกับให้พาร์ตเนอร์โฟกัสการทำตลาดอย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างโอกาสในการขายใหม่ ๆ เพราะตลาดนี้ยังมีโอกาสที่จะเติบโตอีกมาก

ด้านนายพรเทพ วัชรอำนวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท อัสซุสเทค คอมพิวเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตอนนี้แต่ละแบรนด์เริ่มมีการแข่งขันสูงมากขึ้น นอกเหนือจากการจำหน่ายฮาร์ดแวร์แล้ว ยังมีข้อเสนอพิเศษเพิ่มเติม เช่น บริการเงินผ่อนดอกเบี้ยต่ำ การเพิ่มประกันเครื่องหาย การขยายสิทธิพิเศษและบริการหลังการขายมากขึ้น เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งและสร้างความดึงดูด จนปัจจุบันบริการเสริมกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนในการตัดสินใจของแต่ละสถาบัน

"สำหรับอัสซุสเพิ่งเข้าสู่ตลาดคอมเมอร์เชียลปีที่ผ่านมา โดยมีการตั้งทีมเพื่อโฟกัสตลาดการศึกษาอย่างชัดเจน ช่วงนี้จึงเสมือนอยู่ในช่วงลองผิดลองถูก พยายามส่งทีมงานเข้าไปในมหาวิทยาลัยเพื่อให้มีการทดสอบสินค้า และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้ามากขึ้น"

ขณะที่นายนิธิพัทธ์ ประวีณวงค์วุฒิ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด กล่าวว่า สำหรับตลาดการศึกษา ขณะนี้ยังไม่เห็น โปรเจ็กต์ขนาดใหญ่เป็นพิเศษ แต่ยอมรับว่า มีจำนวนมหาวิทยาลัยที่ใช้โมเดลแจกโน้ตบุ๊กให้นักศึกษามากขึ้น เฉลี่ยโปรเจ็กต์ละ500-600 เครื่อง และส่วนใหญ่ยังเป็น มหาวิทยาลัยเอกชนซึ่งตนคาดว่าจะช่วยเปิดโอกาสให้แบรนด์คอมพิวเตอร์ใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดได้มากขึ้น แต่กระนั้นแบรนด์หลักที่ทำตลาดมานานก็จะมีความได้เปรียบมากกว่า

อย่างไรก็ตามสำหรับเอเซอร์มีทีมที่ดูแลตลาดมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว และมีพาร์ตเนอร์เจ้าประจำจึงยังไม่มีแผนใด ๆ เป็นพิเศษ แต่เอเซอร์จะมีโมเดลสินค้าพิเศษทั้งสเป็กและซีพียู ราคาประมาณ 2 หมื่นบาท เพื่อจำหน่ายสำหรับมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าและราคาทับซ้อนกับสินค้าที่จำหน่ายในตลาดทั่วไป โดยคาดว่าปัจจุบันเอเซอร์มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 30-40% ของโน้ตบุ๊กที่มีการซื้อแจกให้นักศึกษาทั้งหมด


ที่มา http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1268625022&grpid=00&catid=00

ไม่มีความคิดเห็น:

ฟรีบริการเก็บสถิติเว็บไซด์ FlashSanook แฟลชเกมสนุกของคนออนไลน์