ไอแพด ฟีเวอร์!!!

ต้องถือว่า นาทีนี้อุณหภูมิของภาวะ "iPad ฟีเวอร์" ในเมืองไทยได้เดินทางมาใกล้ถึงจุดเดือดเต็มที่แล้ว หลังจากถูกอุ่นเครื่องมานานเกือบปีของผู้ค้า iPad เครื่องหิ้ว นักสังเกตการณ์ทั่วไทยเชื่อว่า การที่คนไทยสามารถซื้อหา iPad ที่นำเข้าประเทศแบบถูกกฏหมายจากตัวแทนจำหน่าย “iStudio” มาใช้งานได้แล้วในวันนี้ จะเป็นแรงส่งสำคัญที่จะสร้างปรากฏการณ์ "iPad ฟีเวอร์" ขึ้นในสังคมไทย เหมือนกับที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ที่แอปเปิลเปิดตัว "iPad" อย่างเป็นทางการมาแล้ว

["Mars" ดิจิตอล แมกกาซีน ของแท้บนแท็บเล็ต ฉบับแรกของประเทศไทย]
1 ใน 5 สุดยอดปรากฏการณ์ iPad ฟีเวอร์ ที่หลายคนสัมผัสได้แล้วในขณะนี้ คือ การ "เป็นหมัน" ของอุตสาหกรรม eBook ฉบับภาษาไทย แต่ดาวรุ่งกลับเปลี่ยนตำแหน่งไปอยู่ที่ "Digital Magazine" หรือนิตยสารดิจิตอลแทน

Digital Magazine นั้นต่างจาก eMagazine ตรงที่อย่างหลังนั้น ตัวผู้อ่านจะต้องโหลดไฟล์พร้อมพิมพ์อยู่ในรูปแบบไฟล์นามสกุลที่เรียกว่า Portable Document Format (PDF) โดยดูบนเว็บไซต์ หรือโปรแกรมอ่านเอกสาร แต่ Digital Magazine จะเป็นนิตยสารอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบใหม่ที่บรรจุคอนเทนท์ลงในแอปพลิเคชัน ต่อยอดให้การอ่านมีความสนุกสนานและโต้ตอบได้มากขึ้น ทำให้ผู้อ่านนิตยสารสามารถชมวิดีโอ ดูฟังโฆษณา และร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่นิตยสารดิจิตอลเล่มนั้นๆ จัดทำขึ้นมาในรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟ ทำให้ผู้อ่านได้อรรถรสมากกว่าแค่การอ่านแบบปกติได้อย่างตื่นตายิ่งขึ้น
Times คือ นิตยสารที่ประเดิมคลอดแอปพลิเคชันให้ผู้ใช้ iPad ที่เป็นสมาชิก Times ได้ดาวน์โหลดฟรี ก่อนที่นานาสื่อที่ออกเป็นรายวัน/รายเดือน/รายปี ต่างพากันชักธงรบกระโจนเข้าสู่ตลาดนี้ เช่นเดียวกับค่ายนิตยสารและสื่อสิ่งพิมพ์ในประเทศไทยที่พร้อมใจลงเล่นในตลาดนี้แล้ว

ปรากฏการณ์ที่จะเห็นชัดเจนนับจากนี้คือ นิตยสารไทยจะไม่ได้มีแต่โฆษณาภาพนิ่งอีกต่อไป แต่สามารถแสดงในรูปแบบวิดีโอ พ่วงเครือข่ายสังคม หรือดึงข้อมูลจากระบบ CRM เพื่อโอกาสต่อยอดสู่การซื้อสินค้าได้ โดยทั้งหมดนี้ ค่ายนิตยสารจะไม่ต้องรอรอบวันเวลาวางแผงสิ่งพิมพ์อย่างที่เคย แต่จะมีโอกาสออกหนังสือได้ถี่มากขึ้นตามที่ต้องการ เนื่องจากไม่มีต้นทุนการพิมพ์ แถมสามารถวัดผลตอบรับได้ทันใจ ไม่ต้องรออีกต่อไป

ความนิยมตัวเครื่อง iPad บวกกับอิทธิพลของตลาดแอปพลิเคชันที่เกิดจากตลาดสมาร์ทโฟน ทำให้อุตสาหกรรม Digital Magazine ก้าวนำธุรกิจหนังสือดิจิตอลอื่นๆ ในประเทศไทย ซึ่งแม้แต่เครื่องอ่าน eBook อย่าง Kindle จาก Amazon หรือ Nook จาก Barns&Nobel ก็ยังไม่สามารถสร้างกระแสร้อนแรงให้ค่ายหนังสือมุ่งความสนใจไปที่ตลาด eBook ได้

จุดนี้มีการวิเคราะห์กันว่า มีสาเหตุมาจากที่ eBook ไม่ขยายตัว เป็นเพราะหนังสือเล่มมีภาวะการเก็บสต็อกที่อยู่ในรูปแบบหนังสือเล่มที่มากกว่าเทปและดีวีดีด้วยซ้ำ ทำให้ Digital Magazine เกิดแรงดันในการขยายตัวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

รูปแบบ Digital Magazine ในประเทศไทย ที่เกิดขึ้นในขณะนี้มี 2 ลักษณะ ได้แก่ นิตยสารที่ทำแอปพลิเคชันด้วยตัวเอง และนิตยสารที่ "ฝากขาย" อยู่บนแอปพลิเคชันร้านหนังสือ ข้อมูลระบุว่า กลุ่มแรกนั้นมีสื่อไทยมากกว่า 10 รายที่ให้บริการอยู่ในขณะนี้ ขณะที่กลุ่มหลังมีหัวหนังสือมากกว่า 40 หัวแล้วในขณะนี้ ซึ่งคาดว่า นับจากนี้ นิตยสารไทยส่วนใหญ่จะกระโดดลงมาเล่นในตลาดนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปรากฏการณ์ที่ 2 คือ iPad กลายเป็นเครื่องมือที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่มพิธีกรชาวไทย โดยเฉพาะพิธีกรบนเวทีสดที่ต้องการข้อมูลอินเทอร์แอคทีฟต่อเนื่อง ล่าสุด "อาจารย์ปานเทพ พัวพงศ์พันธุ์" ยังใช้ iPad บนเวทีพันธมิตรฯ เพื่อเรียกร้องให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเชื่อว่าในอนาคต คนไทยจะได้เห็นปรากฏการณ์พิธีกรใช้งาน iPad บนเวทีต่อหน้าสาธารณชนมากขึ้นแน่นอน

ปรากฏการณ์ที่ 3 เกิดขึ้นในร้านอาหาร-ร้านกาแฟ หากย้อนกลับไปในช่วงที่ iPad เครื่องหิ้วเริ่มวางจำหน่าย หลายร้านค้าในกรุงเทพฯ เริ่มนำ iPad มาเป็น "Gimmic" ด้วยการใช้ iPad แทนเมนู ขณะเดียวกันก็วาง iPad ให้ลูกค้าได้เพลิดเพลินกับการเล่นเกมบนหน้าจอสัมผัสระหว่างรออาหาร ทั้งหมดนี้มีโอกาสสูงมากที่ร้านค้าในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะรายที่มีให้บริการเครือข่ายไวไฟจะหันมาซื้อ iPad ที่ไม่ใช่เครื่องหิ้วไปใช้ในร้านเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับร้าน

ปรากฎการณ์ที่ 4 คือการใช้งาน iPad ในกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุชาวไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การสำรวจในต่างประเทศพบว่า เด็กวัย 3 ขวบจนถึงคุณยายวัย 80 สามารถเพลิดเพลินกับ iPad ได้ดีจนน่าทึ่ง จึงไม่แปลกที่หลายเสียงในสังคมไทยจะบอกว่าพร้อมซื้อ iPad ให้คุณแม่วัยเกษียนแล้ว หรือการดึงลูกน้อยในวัยก่อนเรียนมาเพลิดเพลินกับเกมเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ให้เห็นชินตามากขึ้น

ทั้งหมดนี้เชื่อกันว่า เป็นอานิสงส์จากการที่ iPad สามารถวางจำหน่ายในร้านค้า ไม่ใช่ตู้ค้าอิสระรายย่อย เพราะชาวไทยส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่ผู้ติดตามเทคโนโลยีถึงขั้นเดินตามตู้ค้าเพื่อถามหา iPad โดยเฉพาะ จะสามารถเข้าถึง iPad ได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น แถมยังมีความมั่นใจเรื่องการรับประกันหลังการขายที่มากขึ้น นี่เองจะทำให้ iPad สามารถขยายฐานผู้ใช้จากเดิมในกลุ่มไฮเทคมาเป็นกลุ่มผู้ใช้ทั่วไปที่หลากหลายอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

ปรากฏการณ์ที่ 5 คือ ค่ายมือถือจะเน้นแย่งลูกค้าในธุรกิจสื่อสารข้อมูลหรือดาต้าอย่างดุเดือดยิ่งขึ้น เชื่อว่าในอนาคต ค่ายผู้ให้บริการเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเคลื่อนที่จะพร้อมใจกันออกโปรโมชันเพื่อดึงลูกค้ากลุ่มผู้ใช้ iPad ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์การเพิ่มลูกค้ากลุ่มรายเดือนอีกทางหนึ่ง

อดคิดไม่ได้ว่า คงจะดีไม่น้อยหากปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยเพราะอุปกรณ์ของคนไทยเอง

ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

ฟรีบริการเก็บสถิติเว็บไซด์ FlashSanook แฟลชเกมสนุกของคนออนไลน์