ค่ายมือถือแห่ชิงเค้ก "เน็ตไร้สาย" สารพัดแพ็กเกจเลือกแบบไหนดี

ค่ายมือถือแห่ชิงเค้ก "เน็ตไร้สาย" สารพัดแพ็กเกจเลือกแบบไหนดี
ในรอบปีที่ผ่านมา กระแสการเติบโตของแอปพลิเคชั่นออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแชต หรือการบูมของโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทำให้ปริมาณการใช้ดาต้าบนโครงข่ายมือถือเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้โครงข่ายปัจจุบันจะยังเป็น 2G รองรับเทคโนโลยี GPRS/Edge อยู่ก็ตาม โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แต่อยู่นอกโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแบบมีสาย หรือ ADSL

โดยค่ายมือถือ "เอไอเอส" ระบุว่า ตลาดอินเทอร์เน็ตไร้สายเติบโตสูงถึง 400% เทียบเดือน ธ.ค. 2552 กับเดือน ม.ค. ปีเดียวกัน ทั้งยังคาดด้วยว่าในปีนี้จะขยายตัวต่อเนื่อง แม้บริการ 3G ซึ่งให้สปีดที่เร็วกว่าจะใช้งานได้ในวงจำกัด แต่พลันที่ "ทีโอที" เปิดให้บริการในเฟสแรกไปเมื่อเดือน ธ.ค. 2552 ปีที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าตลาดมีความคึกคักมากขึ้นมาก

จะเลือกใช้ "อินเทอร์เน็ตซิม" แบบไหน 2G หรือ 3G ในตลาดปัจจุบันมีให้เลือกค่อนข้างหลากหลาย (มาก)

ทางเลือกแบบ 2G

อย่าง บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) มีแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตซิมให้เลือกใช้ทั้งแบบรายเดือนและแบบเติมเงิน โดยแบบรายเดือนมีให้เลือกมากถึง 6 แพ็กเกจ แบ่งตามระยะเวลาในการใช้งาน ได้แก่ Net Sim 99 บาท/เดือน เล่นได้ 30 ชั่วโมง, Net Sim 149 บาท เล่นได้ 50 ชั่วโมง, Net Sim 399 บาท เล่นได้ 140 ชั่วโมง, Net Sim 500 บาท เล่นได้ 250 ชั่วโมง หรือถ้าอยากเล่นแบบไม่จำกัดจำนวนชั่วโมง ก็เลือก Net Sim 999 บาท

สำหรับแบบเติมเงิน หรือพรีเพด ก็มีให้เลือกใช้ได้ในราคาเริ่มต้นแค่ 20 บาท (ใช้ได้ 1 ชั่วโมง) เรื่อยไปจนถึง 100 บาท (20 ชั่วโมง) 350 บาท (100 ชั่วโมง) หรืออยากใช้ไม่อั้น ก็ได้เหมือนกัน 999 บาท ใช้ได้ 30 วัน

ฟากคู่แข่ง "ดีแทค" หรือ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ไม่ต่างกันนัก ได้แก่ 149 บาท/เดือน (50 ชั่วโมง) 399 บาท (140 ชั่วโมง) ถ้าอยากใช้ไม่จำกัดจำนวนชั่วโมง จ่าย 999 บาท มีทั้งแบบเป็นบริการเสริมให้เลือกเพิ่มเติมด้วย เช่น จ่ายเพิ่ม 30 บาทต่อเดือน เล่นได้ 3 ชั่วโมง/เดือน จ่าย 50 บาท เล่นได้ 6 ชั่วโมง จ่าย 99 บาท เล่นได้ 20 ชั่วโมง จ่าย 199 บาท เล่นได้ 50 ชั่วโมง 399 บาท เล่นได้ 140 ชั่วโมง และ 999 บาท เล่นได้ไม่จำกัดชั่วโมง

ถ้าใช้เกินโควตา คิดค่าบริการ 0.50 บาท/นาที ต่ำกว่าเอไอเอส ซึ่งคิดอยู่ที่ 1 บาท/นาที

แต่ถ้ารู้ลึกรู้จริงถึงพฤติกรรมการใช้งานของตัวเองกับการดาวน์โหลดข้อมูลต่าง ๆ แล้วล่ะก็ มีแพ็กเกจที่คิดเงินตามปริมาณการใช้ข้อมูลให้เลือกด้วย

คือ 650 บาท ใช้ได้ 1 Gb และ 99 บาท ใช้ได้ 30 Mb ส่วนเกินคิดกิไลไบต์ละ 1 สตางค์

ทั้ง 2 ค่ายยังแข่งกันขนแอร์การ์ดและเราเตอร์มาทำตลาดด้วย ที่ฮือฮามากตั้งแต่ยังไม่ทันวางตลาด เป็นแอร์การ์ดรุ่นล่าสุดพะยี่ห้อ "เอไอเอส" ที่เคลมว่าถูกที่สุดในประเทศไทย คือ 1,090 บาท (วางตลาด 20 ก.พ. 2553 ) หรือถ้าไม่เกี่ยงเรื่องราคา แต่อยากใช้งานเร็ว ๆ มีรุ่นอื่นให้เลือก เช่น แอร์การ์ด ราคา 3,290 บาท ความเร็วสูงสุด 3.6 Mbps ใช้ฟรี 6 เดือน เดือนละ 500 Mbps ส่วนเกินคิด 2 บาท/Mb หลังเดือนที่ 6 คิดค่าบริการ 100 Mb 129 บาท/เดือน ส่วนเกินคิด 2 บาท/Mb

ส่วนเราเตอร์ตั้งราคาขายที่ 5,400 บาท ความเร็วสูงสุด 3.6 Mbps ใช้อินเทอร์เน็ตฟรี 5 Gb/เดือน ฟรี 12 เดือน ส่วนเกินคิด 2 บาท/Mb หลังเดือนที่ 12 คิดค่าบริการ 1,399 บาท/เดือน ใช้ได้ 5 Gb

ฟากแอร์การ์ดค่าย "ดีแทค" มีให้เลือก 2 ราคา คือแบบจ่ายรายเดือน คิดค่าแอร์การ์ดที่ 2,700 บาท ใช้ Edge/GPRS ฟรี 100 ชั่วโมง ในเดือนแรกและเดือนถัดไปคิด 299 บาท/เดือน ใช้ได้ 100 ชั่วโมง ส่วนเกินคิดนาทีละ 25 สตางค์ อีกแพ็กเกจเป็นลูกค้าแบบเติมเงิน ขายแอร์การ์ดราคา 2,600 บาท เล่นอินเทอร์เน็ตฟรี 10 ชั่วโมง นาน 3 เดือน ส่วนเกินคิดนาทีละ 25 สตางค์

ด้านเจ้าพ่อคอนเวอร์เจนซ์อย่าง "ทรูมูฟ" ล่าสุดออกโปรสำหรับคนติดเน็ต รวมทั้งค่าโทร. ค่า Wi-Fi Edge GPRS ไว้แบบ 4 in 1 เริ่มต้นที่เดือนละ 129 บาท ได้สิทธิใช้ อินเทอร์เน็ตผ่าน Wi-Fi, Edge และ GPRS รวมกัน 10 ชั่วโมง ถ้าเลือกจ่าย 299 บาทต่อเดือน ได้สิทธิเพิ่มเป็น 30 ชั่วโมง ทั้ง 2 แพ็กเก็จหากใช้งานเกินสิทธิคิดนาทีละ 1 บาท ถ้าอยากใช้แบบไม่อั้นก็จ่ายเพียงเดือนละ 799 บาท สมัครใช้งานได้ถึง 3 มี.ค. 2553 แต่น่าเสียดายที่ใช้สิทธิได้ 6 รอบเท่านั้น

การใช้มือถือต่อเน็ตผ่าน "Edge" ซึ่งว่ากันว่าเป็นพัฒนาการสูงสุดของระบบโทรศัพท์มือถือยุค 2G จนมีนิกเนมเรียกกันเล่น ๆ ว่า 2.75 G ประมาณว่าใกล้ 3G มากแล้ว แม้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลตามทฤษฎีจะอยู่ระหว่าง 200-300 Kbps แต่ในการใช้งานจริงอาจเร็วกว่าอินเทอร์เน็ตแบบ Dial up 56 Kbps ไม่เท่าไร

3G จึงน่าสนใจกว่าด้วยประการทั้งปวง

3G ทางเลือกใหม่

ค่ายมือถือเจ้าเดิมเริ่ม ๆ ให้บริการไปบ้างแล้ว แถมไม่เก็บตังค์อีกต่างหาก (กรณีดีแทคและทรูมูฟ) เพราะถือว่าอยู่ในขั้นของการทดสอบบริการ และในเมื่อเป็นการทดสอบกลุ่มคนและพื้นที่ในการใช้งานจึงจำกัดจำเขี่ยไปด้วย

เช่น ดีแทคที่เปิดให้ลูกค้าสมัครทดลองใช้บริการได้ฟรีเฉพาะกลุ่ม 2-3 พันคน

"ทินกร เทียนประทุม" ผู้อำนวยการสายงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจดีแทค กล่าวว่า ดีแทคอยู่ในช่วงทดลองให้บริการ 3G บนความถี่ 850 MHz ซึ่งปัจจุบันมีจุดทดลองอยู่ 36 สถานีฐานครอบคลุมพื้นที่กลางใจเมืองอย่างสยามสแควร์ สีลม เป็นหลัก แต่กำลังเจรจากับ บมจ.กสท โทรคมนาคม เพื่อขออนุมัติขยายพื้นที่ทดลองออกไปเป็น 500 สถานีฐาน เพื่อให้พื้นที่บริการเพิ่มมากขึ้น

"ทินกร" บอกว่า ผลตอบรับจากการทดลองบริการดีมาก มีลูกค้าที่เห็นชัดอยู่ 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ต้องการใช้อินเทอร์เน็ตแบบเคลื่อนที่ได้ อีกกลุ่มเป็นคนที่ต้องการใช้เน็ต แต่อยู่นอกข่ายสาย ADSL

ในแง่เทคโนโลยี 2G แข่งขันกับ 3G ไม่ได้อยู่แล้ว แต่แม้ทีโอทีเปิด 3G ไปก่อน ก็ไม่มีอะไรน่าวิตกมาก เพราะโครงข่ายยังจำกัด จึงตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้บางกลุ่มเท่านั้น

ที่สำคัญแม้ "ทีโอที" เปิดบริการแล้ว แต่ค่าบริการยังถือว่าแพงอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นผู้ให้บริการรายเดียวในตลาด แต่หากในอนาคตมีผู้ให้บริการรายใหม่เข้ามา จะทำให้มีการแข่งขันทั้งด้านราคาค่าบริการและคุณภาพมากกว่านี้อย่างแน่นอน

ผ่านไปเกือบ 60 วัน หลังคนไทยมีบริการ 3G จริง ๆ ให้ใช้ โดย "ทีโอที" ผ่านการทำตลาดของ "MVNO" ลองมาดูว่า มีโปรโมชั่นโดน ๆ บ้างหรือไม่

เริ่มที่เจ้าของโครงข่าย 3G บนคลื่น 2100 MHz ตัวจริง "TOT 3G" แม้มีเสียงบ่นเรื่องค่าบริการที่ไม่โดนใจตั้งแต่ช่วงเปิดตัว โดยเฉพาะกับแพ็กเกจแบบเติมเงินที่คิดค่าบริการถูกสุดตั้ง 50 สตางค์ต่อ MB ขณะที่แพ็กเกจรายเดือนมีให้เลือกได้ 4 แบบ คือไซซ์ S จ่าย 199 บาท/เดือน ใช้ดาต้าได้ 1 GB ไซซ์ M 2.5 GB จ่ายเดือนละ 399 บาท ไซซ์ L 4 GB จ่ายเดือนละ 599 บาท และไซซ์ XL ใช้ 6 GB จ่ายเดือนละ 799 บาท (ส่วนเกินคิด 0.20 บาทต่อ MB)

ล่าสุดออกโปรโมชั่นใหม่สำหรับผู้ซื้อ Air Card "TOT 3G" (USB MODEM รุ่น i-Mobile U3510) ราคา 2,500 บาท (ไม่รวมแวต) จะได้รับซิมรายเดือนฟรี และได้สิทธิใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มจากแพ็กเกจ "Internet Set" ที่มีให้เลือกอีกเดือนละ 500 MB ฟรี แต่ต้องสมัครใช้งานก่อน 31 มี.ค.

เท่ากับว่าเริ่มต้นจ่ายเดือนละ 199 บาท จะใช้ดาต้าได้ถึง 1.5 GB หรือหากใช้หนักหน่วงแบบ 6.5 GB ก็จ่าย 799 บาท โปรโมชั่นล่าสุดน่าจะดึงดูดนักท่องเน็ตได้บ้าง แต่ถ้าคิดใช้แค่ดาต้าล้วน ๆ เลือก"i-Kool" ของล็อกซเล่ย์ดีกว่า เพราะจ่ายแค่ 499 บาทต่อเดือน ใช้งานได้มากถึง 30 GB

ขณะที่ บมจ.สามารถ ไอ-โมบาย MVNO มีโปรโมชั่นรายเดือน "Internet Sim" เริ่มต้นที่ 199 บาท โหลดข้อมูลได้ 1GB หรือเลือกจ่ายเดือนละ 399 บาท ใช้ได้ 2.5 GB ถ้ายังไม่พอเลือก 599 บาท ใช้ได้ 4.5 GB หรือ 799 บาท ใช้ได้ 6 GB ส่วนเกินคิดค่าบริการ 0.20 บาทต่อ MB

หรือเลือกใช้แบบเติมเงินก็มี เริ่มต้น 50 บาท ใช้ได้ 30 MB เติม 100 บาท ใช้ได้ 100 MB หรือ 300 บาท ใช้ได้ 500 MB สูงสุด 500 บาท ใช้ได้ 1 GB ส่วนเกินคิด 0.5 บาทต่อ MB หรือ 500 บาทต่อจิกะไบต์ แต่มี ข้อเสีย คือแบบเติมเงินไม่สามารถใช้งานโรมมิ่งได้ทั้ง voice และ data เท่ากับว่า หากออกนอกเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลจะไม่ใช้อะไรได้เลย

MVNO รายล่าสุดที่เปิดตัว คือ "IEC 3G" มีให้เลือกทั้งแบบรายเดือนและเติมเงินเช่นกัน พรีเพดคิดเริ่มต้นที่ 99 บาท ใช้ได้ 10 MB 199 บาท ใช้ได้ 200 MB และ 399 บาท ใช้ได้ 3GB ระยะเวลาใช้งาน 7 วัน 15 วัน และ 45 วันตามลำดับ แบบรายเดือนคิดราคาเริ่มต้น 199 บาท ใช้ได้ 500 MB และ 399 บาท ใช้ได้ 3 GB

อย่างไรก็ตาม ผู้สนใจจะใช้ 3G เป็นทางเลือกต้องหยุดสำรวจพื้นที่การใช้งานเสียก่อน แม้บ้านจะอยู่ในเขตกรุงเทพฯและ ปริมณฑลก็ตาม เพราะสถานีฐานของทีโอที 3G ในขณะนี้มีแค่ 500 กว่าแห่งเท่านั้น

ทั้งระบบบิลลิ่งกับระบบเติมเงินออนไลน์ยังไม่เรียบร้อย ทำให้ไม่สามารถเติมเงินออนไลน์ หรือตัดผ่านบัตรเครดิตได้ ที่สำคัญระบบเช็กยอดการใช้ และเติมเงินยังทำได้โดยการกดรหัสเติมเงินจากโทรศัพท์มือถือเท่านั้น แต่เช็กปริมาณการใช้งานได้ด้วยการเลือกใช้ฟังก์ชั่น "statistic" ซึ่งแสดงข้อมูลให้เห็นขณะใช้งานได้เลยว่าโหลดข้อมูลมาแล้วกี่มากน้อย

การคิดอัตราค่าบริการตามปริมาณข้อมูลยังทำให้ลูกค้าทั่วไปไม่สามารถประเมินตัวเองได้ว่าควรเลือกแพ็กเกจไหนจึงจะเหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้งาน และมีอีกจำนวนไม่น้อยที่จะรู้สึกว่าแพง

เช่น ถ้าแชตผ่าน MSN ออนไลน์ ทั้งวันโดยไม่มีการส่งไฟล์หากัน วันหนึ่งจะใช้ดาต้า 10-30 MB ซึ่งผู้ให้บริการส่วนใหญ่คิดเงินเพียง 0.20-0.50 บาทต่อ MB เท่ากับวันหนึ่งมีค่าใช้จ่าย 2-15 บาทเท่านั้น เช่นเดียวกับการเช็กเมล์ อ่านเว็บบอร์ด ถ้าใช้แค่นี้เลือกแพ็กเกจ 1 GB ก็เหลือเฟือ

แต่ถ้าเริ่มชอบเล่นเกมบน social network ดูคลิปวิดีโอผ่าน youtube แล้วล่ะก็จะรู้สึกได้ทันทีว่าค่าบริการแสนแพง เพราะแค่ดูคลิปบน youtube ที่มีความละเอียดปานกลางเพียง 10 นาที ต้องดึงข้อมูลผ่านโครงข่ายราว ๆ 20 MB ยิ่งความละเอียดสูงยิ่งต้องดึงข้อมูลมาก ฉะนั้นแค่ท่อง youtube เพลิน ๆ ชั่วโมงเดียวอาจต้องจ่ายเป็น 100 บาท ดูมากกว่า 200 คลิปต่อเดือน (เฉลี่ย 6-7 คลิปต่อวัน) แพ็กเกจ 6 GB ก็อาจไม่พอ

คิดจะใช้ 3G เป็นเน็ตทางเลือกสำหรับความบันเทิงแบบมัลติมีเดีย คงต้องระวังเงินรั่วออกจากกระเป๋าให้มาก ๆ

แต่ถ้าจะใช้งานแค่อ่านเมล์ แล้วจะใช้ความเร็วระดับ 3G ไปทำไม ?

ที่มา ฉบับที่ 4180 ประชาชาติธุรกิจ
http://www.prachachat.net/view_news.php?newsid=02com01010253§ionid=0209&day=2010-02-01

ไม่มีความคิดเห็น:

ฟรีบริการเก็บสถิติเว็บไซด์ FlashSanook แฟลชเกมสนุกของคนออนไลน์