โนเกียสุดทนฟันมือถือปลอม ขายเกลื่อนกรุง-ตจว.ไอโฟน-บีบีโดนด้วย

โนเกียสุดทนฟันมือถือปลอม ขายเกลื่อนกรุง-ตจว.ไอโฟน-บีบีโดนด้วย
"โนเกีย" ผวามือถือปลอมระบาดทั่วไทย จับมือที่ปรึกษากฎหมายเดินหน้าไล่กวาดล้าง พร้อมจัดกิจกรรมรณรงค์ "หยุดซื้อ-หยุดขายมือถือปลอม" ให้ความรู้ผู้บริโภค หวั่นกระทบภาพลักษณ์ ชี้เส้นทางมือถือปลอมมาจากแหลมฉบัง-สุวรรณภูมิ-หนองคาย เผยปีที่ผ่านมาจับกุมเกือบล้านเครื่อง โดนก๊อบปี้ถ้วนหน้า ทั้งโนเกีย, ซัมซุง, ไอโฟน และแบล็คเบอร์รี่ พบวางขายทั้งในมาบุญครองและศูนย์ขายมือถือตามห้างสรรพสินค้า ขณะที่ร้านค้ามือถือชายแดนรับผลกระทบ ต้องปรับตัวหนีไปเป็นร้านซ่อมมือถือจีน
หลังจากมือถือแบรนด์เล็กจากจีนได้สร้างความปั่นป่วนให้กับผู้ผลิตมือถือแบรนด์ดัง ๆ ด้วยการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดที่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงแค่ "ราคา" ที่ถูกกว่ามากเท่านั้น แต่ยังมาจากคุณภาพสินค้าและบริการที่ดีขึ้นกว่าในอดีตมาก ประกอบกับมีฟังก์ชั่นโดนใจอย่าง "2 ซิม ดูทีวีได้" ทำให้มือถือจากจีนได้รับการยอมรับมากขึ้น

ลำพังเครื่องผลิตจากจีนเลียนแบบรูปร่างหน้าตาแบรนด์ดังแต่ใช้ยี่ห้อของตนเองยัง ไม่เท่าไร มาวันนี้มือถือจีนไปไกลถึงขั้นเลียนแบบทุกสิ่งทุกอย่าง มีทั้งตั้งใจสะกดชื่อแบรนด์ผิด หรือก๊อปชื่อแบรนด์และตรา สินค้าก็มี ส่งผลให้ยักษ์ใหญ่อย่างโนเกียต้องออกมาปกป้องตัวเองเป็นพัลวัน

นายชูมิท คาพูร์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงแนวโน้มตลาดโทรศัพท์มือถือในปี 2553ว่าจากที่ภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว และผู้บริโภคเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น ส่งผลให้ ผู้บริโภคลดการซื้อมือถือแบรนด์จีนหรือเฮาส์แบรนด์ หันกลับมาซื้อมือถืออินเตอร์ แบรนด์อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในขณะที่มือถือจีนได้รับความสนใจจากผู้บริโภคน้อยลง และไม่ได้เป็นเรื่องที่โนเกียกังวลในปีนี้ แต่ที่สร้างความกังวลให้มากกว่าคือการระบาดของโนเกียปลอม ซึ่งรุ่นไหนที่ขายดีก็จะมีเครื่องปลอมออกมา

ทั้งนี้ ตัวเลขของไอดีซีระบุว่า ตลาดรวมมือถือปี 2552 มีประมาณ 9.2 ล้านเครื่อง และคาดว่าในปี 2553 ตลาดรวมจะเพิ่มเป็น 9.48 ล้านเครื่อง โดยโนเกียยืนยันว่า มีส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่ง แต่ซัมซุงที่ไล่ตามมาติด ๆ อ้างข้อมูลของจีเอฟเค ประจำเดือน พ.ย. 2552 ระบุว่า ซัมซุงได้ขึ้นมามีส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งด้วยสัดส่วน 33% ขณะที่ โนเกียตามมาเป็นอันดับ 2 อยู่ที่ 32%

"โนเกีย" รณรงค์หยุดซื้อขายมือถือปลอม

จากการแพร่ระบาดดังกล่าว โนเกียได้จัดกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านโทรศัพท์มือถือปลอม โดยจัดสัมมนา "หยุดซื้อ-หยุดขายมือถือปลอม" ในวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่พิพิธภัณฑ์ของปลอม โดยนายจิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ ผู้จัดการธุรกิจบริการ บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของมือถือโนเกียปลอมว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกช่องทางการจำหน่าย โดยเฉพาะร้านลูกตู้ตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ เนื่องจากผู้ขายมีโอกาสพูดจูงใจผู้ซื้อ ณ จุดขาย ทำให้มีการแพร่ระบาดค่อนข้างสูง รวมถึงการขายผ่านทางออนไลน์ ประเภทที่ให้ผู้ซื้อโอนเงินให้ก่อนแล้วจึงจะส่งสินค้าให้ในภายหลัง จะมีโอกาสได้รับสินค้าปลอมค่อนข้างสูง

"สิ่งที่เรากังวลมากที่สุดคือความปลอดภัยของผู้บริโภค เพราะการใช้มือถือปลอมมีโอกาสที่แบตเตอรี่จะระเบิดหรือไฟรั่วได้ รวมถึงปัญหาเรื่องคุณภาพสินค้า ที่จะส่งผลกระทบต่อแบรนด์โนเกีย ในกรณีที่ลูกค้าซื้อโดยเข้าใจผิดว่าเป็นของจริงและมีประสบการณ์การใช้งานที่ไม่ดีเกิดขึ้น"

รูปแบบการละเมิดลิขสิทธิ์ที่พบมากที่สุดคือการปลอมเครื่องหมายทางการค้าและ มือถือที่มีดีไซน์เหมือนของจริง ซึ่งจะพบในรุ่นที่เครื่องของจริงขายดี รวมทั้งรุ่นที่ไม่อยู่ในไลน์การผลิต มีรหัสรุ่นแปลก ๆ ดังนั้นในส่วนของโนเกียก็มีข้อแนะนำผู้บริโภคในการซื้อว่าควรซื้อมือถือจากร้านที่ไว้ใจได้ หรือเป็นดีลเลอร์ที่ได้รับการแต่งตั้งจากโนเกีย และหากราคาเครื่องต่ำผิดปกติแสดงว่าเป็นเครื่องปลอม รวมทั้งสังเกตบรรจุภัณฑ์และสติ๊กเกอร์ต่าง ๆ และควรเก็บใบเสร็จรับเงินและทวงถามใบรับประกันสินค้าทุกครั้งที่ซื้อ

สำหรับช่องทางจำหน่ายที่ผู้บริโภคควรให้ความระมัดระวังมากที่สุดคือ 1.ร้านค้าออนไลน์ 2.ลิงก์ในหน้าเว็บเพจที่เชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ขายสินค้าแปลก ๆ หรือไม่เป็นที่รู้จัก 3.ร้านลูกตู้ที่มีจำหน่ายทั้งเครื่องปลอมและเครื่องจริงในร้านเดียวกัน

"เร็ว ๆ นี้เราก็จะมีมาร์เก็ตติ้งแคมเปญในการรณรงค์ให้ความรู้แก่ผู้บริโภค โดยแบ่งกลุ่มลูกค้าเป็น 2 ส่วนคือ คนที่ซื้อโดยไม่รู้ว่าเป็นของปลอม เราจะเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับจุดสังเกตต่าง ๆ และคนที่รู้ว่าเป็นของปลอมอยู่แล้วแต่ก็ยังซื้อเพราะราคาถูก เราจะเน้นให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยในการใช้งาน"

ขณะที่ตัวแทนจากสำนักงานกฎหมาย ติลลิกี แอนด์กิ๊บบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้รับหน้าที่ดำเนินมาตรการด้านกฎหมายแก่โนเกียในประเทศไทย กล่าวว่าช่องทางนำเข้าสินค้าปลอมเหล่านี้ส่วนใหญ่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์เข้ามาทางท่าเรือแหลมฉบัง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และแนวชายแดนทางด้านจังหวัดหนองคาย ซึ่งในแต่ละปีบริษัทร่วมมือกับหน่วยงานรัฐจับกุมสินค้าโนเกียปลอมปีละหลักเกือบล้านยูนิต

ส่วนนโยบายการจับกุมของบริษัทจะเน้นการจับกุมแหล่งพักสินค้าปลอมหรือแหล่งประกอบเครื่องปลอมในไทย ส่วนร้านลูกตู้หรือร้านค้าย่อยก็จับกุมตลอด แต่ร้านเหล่านี้มีเทคนิคในการหลบเลี่ยงอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน

ผู้ค้ายอมรับระบาดทั้งใน กทม.-ตจว.

นายพลณรงค์ วัฒนโพธิธร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอ็มลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หนึ่งในตัวแทนจำหน่ายมือถือ "โนเกีย" กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันสถานการณ์มือถือปลอมระบาดค่อนข้างรุนแรง ส่วนหนึ่งมาจากกระแสเครื่องเฮาส์แบรนด์ที่มีสองซิม หรือดูทีวีเริ่มเบาบางลง บวกกับลูกค้าเริ่มรับรู้คุณภาพของสินค้า ทำให้ยอดขายแบรนด์จีนในตลาดลดน้อยลง ทำให้ผู้ค้ามือถือต้องหาทางชดเชยรายได้ที่หายไป โดยการนำเครื่องลอกเลียนแบบมาขาย ซึ่ง คาดว่าจะเป็นสินค้านำเข้าจากจีนเป็นหลัก

มือถือปลอมเริ่มมีกระแสชัดเจนช่วงครึ่งหลังของปี 2552 และพบการปลอมทุกยี่ห้อ ทั้งโนเกีย ซัมซุง แบล็คเบอร์รี่ และไอโฟน กระจายอยู่ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด โดยเฉพาะตามศูนย์กลางการขายมือถือและชายแดน เช่น มาบุญครอง โรงเกลือ เป็นต้น ส่วนใหญ่จะมีรูปลักษณ์ที่เหมือน มือถือจริงมาก แต่หากดูฟีเจอร์ในเครื่องจะพบว่ามีความแตกต่างอย่างชัดเจน บางรุ่นฟีเจอร์และแอปพลิเคชั่นเหมือนมือถือ แบรนด์จีนเพียงแต่ติดยี่ห้อโนเกีย

รูปแบบการปลอม ประกอบด้วย การลอกเลียนแบบทุกอย่างเหมือนของจริง อาทิ ติดยี่ห้อโนเกียชัดเจน โดยโนเกียรุ่นที่โดนลอกเลียนแบบมากที่สุด ส่วนใหญ่คือรุ่นไฮเอนด์ ราคา 1-2 หมื่นบาทขึ้นไป เช่น รุ่นโนเกีย 5800, N97, E72 เครื่องปลอมจำหน่ายราคา 4,000-5,000 บาท กับกลุ่มที่เป็นมือถือติดยี่ห้อโนเกีย ทั้ง ๆ ที่โนเกียไม่มีรุ่นดังกล่าว จำหน่ายในราคา 3,000-5,000 บาท ขณะที่แบรนด์อื่น ๆ นั้น อาทิ ไอโฟน แบล็คเบอร์รี่ มีทั้งใส่โลโก้และไม่ใส่โลโก้ ราคา 4,000-5,000 บาท รวมถึงซัมซุง สตาร์ด้วย

"ผู้ค้ามือถือสามารถสั่งสินค้าจากโรงงานเฉลี่ยครั้งละ 2,000-3,000 เครื่อง บางรุ่นเพียง 500 เครื่องก็สามารถนำสินค้าเข้ามาทำตลาดได้ ทำให้คนเห็นช่องทาง แม้ว่ายอดการสั่งจะมีจำนวนไม่มากแต่เป็นเสมือนกองทัพมด ผู้ค้าส่งน่าจะมีกำไรเครื่องละ 400-500 บาท แต่หากเป็นผู้ค้าปลีกอาจมีกำไรถึง 1,000 บาท"

ด้านนายสิทธิโชค นพชินบุตร หัวหน้าฝ่ายการตลาด ธุรกิจโทรคมนาคม บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า สำหรับกรณีมือถือปลอมของซัมซุง พบว่ามีจำนวนน้อยมากจนไม่มีนัยสำคัญทางธุรกิจ หรือไม่ส่งผลกระทบต่อยอดขายของซัมซุง

"มาบุญครอง" ก็มีโนเกียปลอม

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" สำรวจตลาดมือถือมาบุญครอง พบว่ามีการจำหน่ายโทรศัพท์โนเกียปลอม แต่จำนวนเครื่องที่วางโชว์หน้าร้านมีไม่มาก ซึ่งมีทั้งรุ่นที่เลียนแบบของแท้และบางส่วนที่ลอกเลียนตราสัญลักษณ์โนเกีย แต่เป็นรุ่นที่ไม่มีอยู่ในไลน์การผลิตของโนเกีย เช่น Nokia N88+, Nokia N89+ หรือ Nokia X6+ เป็นต้น โดยตั้งราคาตั้งแต่ 2,900-3,900 บาท จุดขายก็เหมือนกับมือถือแบรนด์จีนทั่วไปคือรองรับการใช้งาน 2 ซิมและดูทีวีได้

ผู้ค้ารายหนึ่งกล่าวว่า แหล่งที่มีการขายเครื่องปลอมส่วนใหญ่จะอยู่ตามห้างสรรพสินค้าชานเมือง เช่น ย่านท่าพระ บางกะปิ ส่วนในมาบุญครองมีบางร้านที่จำหน่ายแต่จะไม่วางโชว์หน้าร้าน

ร้าน ตจว.อ่วมเจอของปลอมตีตลาด

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" จาก จังหวัดหนองคายรายงานว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้โทรศัพท์มือถือปลอมจากจีนได้รับความนิยม เพราะราคาถูกกว่าของจริงหลายเท่า ขณะนี้ราคาจำหน่ายอยู่ 1,800-4,000 บาท มีหลายรุ่นให้เลือก โดยเฉพาะรุ่นที่ออกมาใหม่ ๆ มีทั้ง โนเกีย, ซัมซุง และไอโฟน โดยในส่วนของโนเกียมีการเลียนแบบหลากหลายรุ่น รวมถึงรุ่นที่ไม่ได้อยู่ในไลน์การผลิตของโนเกีย โดยโนเกียเอ็นซีรีส์ เป็นรุ่นที่มีการเลียนแบบมากที่สุด

ส่วนซัมซุงนั้นเพิ่งจะมีการเลียนแบบไม่นานมานี้ รุ่นที่นิยมเลียนแบบก็จะเป็นหน้าจอระบบสัมผัส ทำให้มีร้านค้าหันมาจำหน่ายโทรศัพท์มือถือปลอมจากจีนกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันมากขึ้น เนื่องจากขายง่ายและกำไรดี ส่งผลกระทบกับร้านจำหน่ายมือถือของแท้จนต้องมีการปรับตัวเองเพื่อความอยู่รอด โดยหันมาจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ (แท้) มือสอง รวมถึงปรับมาเป็านร้านซ่อมมือถือปลอมแทน เนื่องจากมีลูกค้าค่อนข้างเยอะ

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

ฟรีบริการเก็บสถิติเว็บไซด์ FlashSanook แฟลชเกมสนุกของคนออนไลน์