"ทีวียุค 1,000 ช่อง"

"ทีวียุค 1,000 ช่อง"
* เมื่อเทคโนโลยีทลายกำแพงข้อจำกัดคลื่นความถี่ทีวีเพิ่มจาก 7 สู่ 1,000 ช่อง
* เกิดคำถามว่า นี่คือการเปิดโลกทัศน์ หรือสร้างนานาวิกฤตให้กับสังคมกันแน่
* "ป้าเช็ง-ปูแดง" ปฐมบทเรียนแห่งภัยคุกคาม ที่ยังไม่มีหนทางป้องกัน

คำประกาศของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่หลบลี้หนีคดีอยู่ในต่างประเทศ สร้างช่องทางเพื่อต่อสู้ทางการเมือง ด้วยการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ที่สามารถออกอากาศได้ถึง 100 ช่อง เมื่อปลายปีที่ผ่านมา อาจฟังดูเหมือนเป็นไอเดียที่เลื่อนลอยไม่ต่างไปจากหลายๆ ไอเดียที่อดีตผู้นำคนนี้เคยนำเสนอมา แต่หากมองจากความเป็นจริงของสังคมไทยในวันนี้ เทคโนโลยีได้สร้างช่องทางการสื่อสารใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ทีวี 1 เครื่องที่ตั้งอยู่ในบ้าน จาก 7 ช่องเดิมๆ ที่เคยรับชม กำลังจะขยายสู่ 100 ช่อง 1,000 ช่อง ในเวลาไม่นาน

จากเวทีสัมมนา "อนาคตสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ และโทรคมนาคม ใครจะอยู่...ใครจะไป?" ที่จัดโดยสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในหัวข้ออภิปราย "อนาคตอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทยในยุคทีวี 1 พันช่อง"

ดร.พนา ทองมีอาคม ว่าที่ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวว่า ในอดีตคลื่นความถี่ถือเป็นทรัพยากรที่มีความจำกัด รูปแบบการออกอากาศมีลักษณะเป็นการร้อยรายการต่อเนื่องกันไป ผู้ชมต้องรอเวลาในการชมรายการที่ตนต้องการตามที่สถานีวางไว้ เพราะเทคโนโลยีอะนาล็อกผูกให้เจ้าของสถานีกับผู้ผลิตรายการเข้าด้วยกัน ถึงวันนี้ เทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาถึง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล คลื่นความถี่ที่เคยมีอยู่อย่างจำกัด ในอนาคตอาจมีมากจนไม่มีจำกัด สายส่งเส้นลวดทองแดงที่เคยใช้รับส่งคลื่นระบบอะนาล็อก ปัจจุบันเปลี่ยนไปเป็นสายไฟเบอร์ออปติก เพิ่มปริมาณการส่งข้อมูลได้มากกว่านับล้านเท่า

"เทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คลื่นความถี่กลายเป็นทรัพยากรที่มีไม่จำกัด เมื่อก่อนที่โทรทัศน์ยังเป็นระบบอะนาล็อก การออกอากาศต้องเว้นช่องว่างเป็น ช่อง 3, 5, 7 และ 9 เพื่อไม่ให้สัญญาณแต่ละช่องกวนกัน แต่ปัจจุบันระบบดิจิตอลทำให้เราสามารถนำช่องเลขคู่ตรงกลางมาใช้ได้ 1 ช่องที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะสามารถขยายออกไปได้ถึง 4-8-16 จนถึง 32 ช่องได้ เฉพาะฟรีทีวีก็จะเกิดช่องทางใหม่ๆ ขึ้นอีกมหาศาล พัฒนาการของเทคโนโลยีจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญของวงการโทรทัศน์ไทย เมื่อเจ้าของสถานีที่ควบคุมกระบวนการออกอากาศ จะถูกแยกออกจากผู้ผลิตรายการ ต่อเนื่องมาถึงการที่ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของสถานี และเจ้าของสถานีก็ไม่ได้ผูกพันว่าจะต้องออกอากาศเฉพาะรายการของตนเองเหมือนเช่นวันนี้ จุดนี้เหมือนเป็นการเปิดช่องทางใหม่อีกมหาศาล"

ด้าน อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มการเติบโตของช่องทีวีใหม่ๆ โดยเฉพาะช่องทีวีดาวเทียมเป็นไปอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่เคยคาดการณ์กันไว้ว่า ตลอดทั้งปี 2553 จะมีช่องรายการทีวีดาวเทียมเปิดเพิ่มอีกราว 30-40 ช่อง แต่จากการสำรวจในช่วงเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ พบว่า มีการเปิดตัวไปแล้วเกือบ 50 ช่อง นำโดยการประกาศเปิดช่องทีวีดาวเทียมของ อสมท 15 ช่อง จนถึงการประกาศตั้งโฮลดิ้งคอมปะนีของสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย เพื่อเปิดช่องทีวีดาวเทียมส่งให้กับสมาชิกเคเบิลทีวีทั่วประเทศอีก 26 ช่อง เมื่อรวมกับช่องทีวีดาวเทียมยุคบุกเบิก ช่องการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมของวังไกลกังวล ที่มีอยู่ 16 ช่อง ผนวกกับช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่มีช่องทีวีดาวเทียมเปิดให้บริการรวมกันแล้วกว่า 50 ช่อง คาดว่าในปีนี้ทีวีในประเทศไทยก็จะมีมากกว่า 100 ช่องแน่นอน

กทช. ถอดใจคุมทีวีพันช่องไม่ไหว
ขอ คนดู-ธุรกิจ-ภาคประชาชน แท็กทีมดู

แต่การที่เทคโนโลยีสามารถสร้างช่องรายการโทรทัศน์ได้มากมาย ในมุมหนึ่งมองเป็นโอกาสในการเปิดโลกทัศน์ให้กับผู้คน เพื่อที่จะสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ต่างๆ ได้อย่างหลากหลายมากขึ้น แต่ในอีกมุมข่าวการจับกุมช่องทีวีดาวเทียม ซูเปอร์เช็ง ที่มุ่งเผยแพร่ "น้ำมหาบำบัด" หรือการจับกุมบริษัท เบสท์ 59 เจ้าของสินค้า ปูแดง ไคโตซาน ที่ใช้สื่อทีวีดาวเทียมเป็นช่องทางในการสร้างเครือข่ายแชร์ลูกโซ่ ทั้ง 2 กรณีนี้ ถือเป็นเพียงตัวอย่างจากกรณีที่ยังมีอีกมากในการใช้สื่อทีวีดาวเทียมที่มีอยู่มากมายหลายช่องในการโฆษณาขายสินค้าที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานรัฐ ทั้งเครื่องสำอาง ยารักษาโรค สินค้าเกษตร หรือการโฆษณาลัทธิความเชื่อ สร้างเครือข่าย รวมไปถึงการขายคอนเทนต์เกี่ยวกับเซ็กซ์ เช่นคลิปเสียว ภาพหลุด ฯลฯ ซึ่งเมื่อทีวีมีมากถึง 100 ช่อง และมีแนวโน้มที่จะขยายต่อไปถึง 1,000 ช่อง เกิดคำถามว่า จะมีหน่วยงานใดที่จะเข้ามาดูแล กบว. กสทช. หรือตำรวจ

ดร.พนา กล่าวว่า แนวคิดของตนในการควบคุมดูแลจะต้องน้อยลง แต่หันไปเน้นการส่งเสริมให้มากขึ้น โดยอำนาจในการกำกับดูแลนี้ไม่ควรที่จะตกอยู่กับองค์กรใดองค์กรเดียว ดังที่ กทช.ในรูปแบบเดิมก็ไม่ประสบความสำเร็จ การเกิดขึ้นของช่องทีวีซูเปอร์เช็ง ก็แสดงให้เห็นว่า องค์กรใดองค์กรหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือองค์การอาหารและยา ก็ไม่สามารถเข้าไปจัดการได้

โดยในด้านการส่งเสริมที่จะสร้างเครือข่ายในการควบคุมดูแลให้ช่องรายการต่างๆ นำเสนอรายการที่มีคุณภาพ ไม่มีรายการที่นำเสนอเนื้อหาเข้าข่ายหลอกลวงประชาชน ดร.พนา เสนอว่า ประการแรกต้องส่งเสริมให้ผู้บริโภคสามารถปกต้องตนเองได้ ผู้ชมจะต้องเลือกชมรายการที่ดี ผู้ปกครองต้องทำหน้าที่ชี้แนะให้กับเด็กในการรับชม ประการที่สอง ในส่วนของผู้ผลิตรายการ หรือสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องควรมีการรวมตัวกัน เพื่อทำหน้าที่ปกป้องธุรกิจของตน ไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามาขีดเส้นควบคุม และประการที่สาม คือ ภาคประชาชนที่มีความสนใจ จะต้องมีการรวมตัวกันเพื่อเข้ามาร่วมทำหน้าที่ดูแลสื่อโทรทัศน์ รวม 3 กลุ่มเป็น สภาผู้ชมรายการ, สภาวิชาชีพ และองค์กรภาคประชาชน จะร่วมกันเป็นเสาหลัก ส่วนองค์กรกำกับ อย่าง กทช. หรือ กสทช. จะทำหน้าที่เป็นส่วนเสริม คอยดูแลในส่วนที่หากมีส่วนที่ดูแลกันเองไม่ได้

ดร.พนา กล่าวต่อว่า องค์กรกำกับไม่ควรจะตั้งตัวเองว่าเป็นผู้รู้ดีที่สุด เก่งสุด แต่ในความเป็นจริงต้องถามความเห็นของประชาชน เพราะทุกเรื่องมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย เช่น การเห็นว่าเสาอากาศก้างปลาที่อยู่ตามหลังคา เป็นภาพที่รกรุงรัง บางครั้งเป็นอันตรายเพราะอาจล้มได้ หรือเป็นสายล่อฟ้าในตัว แต่เวลานี้จานดาวเทียม กำลังจะทำให้เสาก้างปลาหายไป แต่จากก้างปลา เปลี่ยนเป็นจานที่มีเกล็ดปลาทั่วไปทุกตึก ภาพเหล่านี้สังคมจะรับได้หรือไม่ องค์กรกำกับหากจะใช้อำนาจ ระบุชัดเจนว่าอาคารขนาดไหน จะติดตั้งจานดาวเทียมได้กี่จาน ติดตั้งได้สูงไม่เกินระดับนั้นระดับนี้ เพราะหากไม่ควบคุมจะทำให้ทัศนียภาพของเมืองน่าเกลียด และยังอาจเป็นอันตราย หากจะควบคุมเช่นนี้ สังคมจะรับกันได้ไหม การใช้อำนาจตรงนี้อาจเป็นการใช้อำนาจที่รุนแรงเกินไปก็ได้ แต่บางครั้งมันอาจเป็นการตอบสนองความต้องการ และความปลอดภัยของสังคมได้ จุดนี้ใครเป็นคนชี้ กทช. ชี้ให้ได้ แต่คงไม่รอบคอบแน่นอน สังคมประชาชนจะต้องเป็นคนตอบ

"วันนี้ทีวีเกิดเป็นช่องเล็กๆ เต็มไปหมด จะรับกันได้ไหมที่จะมีช่องที่นำเสนอแต่เรื่องการดูหมอ ชวนไปเข้าทรง ถ่ายทอดการเข้าทรงทั้งวัน หรือบางช่องทั้งวันมีแต่กัดปลา ชนไก่ ชกมวย จะเอาไหม กทช. จะมีมาตรการขีดเส้นตรงไหน ทีวีระดับชาติกำลังจะหายไปเพราะทีวีฟอร์แมต เราไม่อยากได้รายการที่ออกมาเมื่อไหร่คนทั้งประเทศได้ดู การถ่ายทอดงานหลวง มีทีวีพูลทำหน้าที่ถ่ายทอดให้ดูจะหมดไป เราจะยอมรับไหม นอกจากนี้ในแต่ละท้องที่ เคเบิลทีวีจะให้มีกี่ราย หากมีหลายราย แต่ละรายพาดสายเคเบิลผ่านท้องถนนของคุณ ทุกวันนี้โทรศัพท์ทำสายไฟหน้าบ้านเรารกน่าเกลียดมาก ยังจะมีเคเบิลทีวีมาอีก แล้วกี่ราย เท่าไหร่ถึงจะพอ องค์กรกำกับทำงานเองไม่ได้ องค์กรกำกับที่ดีต้องสะท้อนความต้องการของประชาชน ขณะเดียวกันต้องรักษาผลประโยชน์ของประชาชนด้วย"

อำนาจ กทช.ที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัด กฎหมายให้ทำนิดเดียว และที่มันแย่กว่านั้นคือคนทำงานที่ กทช. ไม่มีสตาฟฟ์ ประชุมกันทั้งวัน มีมติแล้วเราบังคับมติอย่างไร แค่ตรวจมอนิเตอร์อย่างเดียวก็ปวดหัวแล้ว บอกให้เราดูวิทยุชุมชน ที่มีอยู่ 6,000 สถานี หรือดูทีวี 1,000 ช่อง จะไปฟังหรือดูหมดได้อย่างไรว่าออกอากาศอะไรบ้าง

อย่างไรก็ตาม ดร.พนา มองว่า องค์กรกำกับของรัฐ ซึ่งเป็นฝ่ายปกครอง ไม่ควรมีอำนาจเพิกถอน หรือปิดสถานีโทรทัศน์ แต่ควรยกให้เป็นอำนาจของฝ่ายตุลาการ หากมีสถานีใดทำผิดเข้าข่ายต้องปิดสถานี ก็ควรให้ไปขอคำสั่งศาล ไม่ควรใช้อำนาจปิดสถานีเอง หรือปิดก่อนแล้วไปร้องกับศาลปกครอง เหมือนที่ผ่านมาก็ไม่ถูกต้อง ซึ่งหากเดินตามแนวทางได้เช่นนี้ นอกจากจะสามารถควบคุมให้รายการที่ไม่มีคุณภาพ หรือหลอกลวงหมดไป ยังจะเป็นการสร้างเสรีภาพให้กับสื่อโทรทัศน์อย่างเต็มร้อยโดยไม่กระทบกับเสรีภาพของใคร

ด้าน อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กล่าวว่า ควรให้ผู้ประกอบการทีวีมีการดูแลกันเหมือนเช่นสภาหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่ผู้ประกอบการหนังสือพิมพ์ดูแลกันเอง โดยมีรัฐธรรมนูญให้การคุ้มครองว่าหากจะปิดหนังสือพิมพ์ต้องขึ้นศาลเท่านั้น ลักษณะเช่นนี้ควรจะนำมาใช้กับสื่อโทรทัศน์ ที่บรรดาผู้ประกอบการต้องรวมตัวกันเพื่อดูแลกันเอง ควบคุมกันเอง แม้จะไม่มีอำนาจทางกฎหมาย แต่ในที่สุด การดูแลโดยการใช้ Social Sanction และการแข่งขันที่อยู่ภายใต้กติกาเดียวกันเป็นตัวช่วยคัดกรอง สิ่งนี้น่าจะเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะหากมองทางภาคประชาชน ผู้ชม ผู้บริโภคในเมืองไทยยังอ่อนแอเกินกว่าจะลุกขึ้นมาตรวจสอบ มากำกับ แต่วันนี้ก็ยังมีกฎหมาย การเซ็นเซอร์ ที่ผู้ประกอบการทุกคนก็ระมัดระวังตัวเองอยู่แล้ว โดยกรณีที่เกิดขึ้นอย่างปุ๋ยปูแดง ก็มีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวพันเอาผิดหลายเรื่อง ทั้งกฎหมายการขายตรง, กฎหมายแชร์

อย่างไรก็ตาม อดิศักดิ์ เชื่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งกรณีปุ๋ยปูแดง และซูเปอร์เช็ง เป็นเรื่องปรกติที่จะเกิดขึ้นในระยะเริ่มต้น แต่เมื่อผ่านขั้นตอนของการพัฒนา การกำกับดูแลที่มีความชัดเจนมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะค่อยๆ หายไป เหลือเพียงการดำเนินธุรกิจที่อยู่บนความถูกต้อง ใช้กติกาเดียวกัน แต่ก็ยังมีความเป็นห่วงต่อไปว่า กฎหมายที่จะเข้ามาควบคุมจะมีความศักดิ์สิทธิ์ และทันต่อยุคสมัยหรือไม่

อดิศักดิ์ ชี้ว่า จากการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ที่กล่าวถึงกระบวนการนำกฎหมาย กสทช. ซึ่งจะใช้กับสื่อ เข้าสู่สภา จะเกิดขึ้นในปลายปีนี้ และกว่าจะสรรหา กสทช. มาเป็นผู้กำกับดูแลได้ อย่างเร็วที่สุดจะเกิดขึ้นได้กลางปีหน้า ตนมองไม่ออกว่า เมื่อถึงปี 2554 สื่อจะมีการเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างไร เพราะเพียงแค่ 1 ปีที่ผ่านมา สื่อก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาลแล้ว มีกฎหมายหลายข้อกล่าวถึงการประมูลคลื่นความถี่ แต่เมื่อถึงเวลานั้นคาดว่าคงไม่มีใครสนใจมาประมูลกัน เพราะปัจจุบันทุกคนมีสนามเป็นของตนเองที่จะเล่นอยู่แล้ว ผู้เล่นรายใหญ่ในวงการโทรทัศน์ ทุกคนลงสนามมาหมดแล้ว การประมูลคลื่นความถี่เหมือนที่เคยทำกับสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เมื่อหลายปีก่อน ผู้รับสัมปทานไปกว่าจะทำให้เครือข่ายสถานีสามารถเข้าถึงผู้ชมทุกบ้าน ก็คงไม่ทันการ ตนจึงเป็นห่วงกฎหมายที่จะคลอดออกมาดูแลสื่อมากที่สุด

ด้าน เกษม อินทร์แก้ว นายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเกิดขึ้นของโทรทัศน์พันช่อง นำคอนเทนต์หลากหลายขึ้นสู่ดาวเทียมออกอากาศสู่ประชาชน สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นองค์ความรู้ที่มีความหลากหลาย เปรียบเสมือนการเข้าไปสู่โลกอินเทอร์เน็ต ที่เป็นแหล่งความรู้อันมหาศาล แต่ก็มีคอนเทนต์ที่เป็นขยะ อันตรายร่วมอยู่มาก ดังนั้น โทรทัศน์บางช่องจะเกิดขึ้นได้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก และปัจจุบันทั่วโลกก็มีเป็นพันช่องอยู่แล้ว มีความหลากหลายมาก แต่ก็ขึ้นอยู่ที่ผู้ชมจะเลือกว่าจะบริโภคคอนเทนต์ขยะ หรือจะเลือกเอาคอนเทนต์สาระ

กทช. จำยอมโฆษณาแฝงเต็มจอ
ชี้ไม่ทำผู้ประกอบการตายหมด

ดร.พนา ยังกล่าวถึงการควบคุมการโฆษณาบนทีวีดาวเทียมว่า จำเป็นต้องมีแนวทางที่แตกต่างจากฟรีทีวี เพราะขณะที่ฟรีทีวี สามารถเข้าถึงได้ทุกบ้าน มีการสำรวจว่ารายการของตนมีจำนวนผู้ชมมากเท่าไหร่ เพื่อนำไปขายโฆษณา ใครมีผู้ชมมากกว่ากัน หรือมีกลุ่มผู้ชมที่มีโปรไฟล์ตรงกับสินค้าที่จะลงโฆษณา แต่ในวันนี้ผู้ชมวัยรุ่น และเด็กไม่ได้ดูทีวี แต่นั่งเล่นเกม เข้าอินเทอร์เน็ต โฆษณาไหลเข้าไปในอินเทอร์เน็ต ไปแฝงอยู่ในเกม อนาคตผู้ชมจะไม่นั่งดูโฆษณาทางทีวียาวๆ เมื่อทีวีโฆษณาแบบเดิมไม่ได้ จึงต้องใช้วิธี Product Placing แฝงเข้าไปในรายการ แม้จะมองว่าไม่ถูกต้อง แต่หากไม่ให้ ผู้ประกอบการจะหารายได้อย่างไร เพราะสปอตโฆษณาเดิมๆ ก็ขายได้ลำบาก ดังนั้น ในอนาคตการหารายได้จากการโฆษณาเพื่อไปพัฒนารายการโทรทัศน์ของตนจะยากลำบากขึ้น นอกจากจะหันไปพัฒนารายการให้มีคุณภาพสูง และเป็นที่ต้องการของผู้ชม เพื่อนำเสนอขายแบบเปย์ เปอร์ วิว

"ที่ผมกล่าวว่า เรื่องการควบคุมกำกับจะน้อยลง ผมเชื่ออย่างนั้นจริงๆ เพราะบางอย่างจะกำกับไม่ได้ ถ้าผมไปกำกับมัดคนไทย แล้วต่างชาติเข้ามาผมกำกับไม่ได้ ผมไปผูกมัดคนไทยแล้วจะไปสู้เขาได้อย่างไร ครีเอทีฟ อีโคโนมีจะเกิดได้อย่างไร ถ้าเรามัวไปควบคุม กำกับผู้ผลิต ควบคุมโฆษณา ควบคุมครีเอทีฟ ไอเดียทั้งหลาย เรามัดมือคนของเรา แต่ปล่อยให้ฝรั่งเข้ามาถลุงเราฟรีๆ ผมก็ต้องคิด เพราะผมดูแลผลประโยชน์ของประเทศ"


ที่มา โดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์/http://www.manager.co.th/mgrweekly/viewnews.aspx?newsID=9530000019615

ไม่มีความคิดเห็น:

ฟรีบริการเก็บสถิติเว็บไซด์ FlashSanook แฟลชเกมสนุกของคนออนไลน์